เพิ่งกลับจาก D.C. ถึงนิวยอร์กครับ เลยคิดว่าควรจะรีบเขียนความคิดเห็นเกี่ยวกับ A Midsummer Night’s Dream ก่อน เพราะจะเป็นประโยชน์กับคนทำละคอนที่เมืองไทย เมื่อว่างแล้วจึงจะทยอยเขียนถึงพิพิธภัณฑ์และสถานที่ต่างๆใน D.C. นะครับ

ผมทราบข่าวการจัดแสดง A Midsummer Night’s Dream ที่โรงละคอนกลางแจ้ง The Delacorte Theater in Central Park ซึ่งจัดแสดงโดย The Public ด้วยความบังเอิญเพราะเดินผ่านโรงละคอน และยอมรับอย่างจริงใจว่าบรรยากาศของละคอนนั้นเชื้อเชิญให้ผมใช้ความพยายามถึงสามวันในการต่อแถวเพื่อรอบัตรฟรีของละคอนเรื่องนี้ ลำพังเฉพาะเนื้อหาและแนวทางการดัดแปลงบทละคอนมาสู่การจัดแสดงนั้น น่าประทับใจมาก มีการดัดแปลง Stylize บางอย่างให้มีความเป็นอเมริกันมากขึ้น ผ่านการใช้เพลง การแต่งกาย และนักแสดง อย่างไรก็ตามออกตัวก่อนเลยครับว่างานเขียนชิ้นนี้จะขอข้ามการแสดงความคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกันตัวบท และดัดแปลงโดยตรง หากแต่จะมุ่งนำเสนอไปยังวิธีการบริหารจัดการของละคอนเรื่องนี้ อาจจะยาวสักหน่อยแต่เป็นประโยชน์มากแน่ๆครับ

ฝรั่งชอบกิจกรรมกลางแจ้งในฤดูร้อนฉันใด คนไทยก็ชอบจัดงานรื่นเริงกันในช่วงฤดูหนาวฉันนั้น เหตุก็เพราะว่าอากาศดีเหมาะแก่การสร้างพื้นที่ให้มนุษย์ได้ปฏิสัมพันธ์กัน ที่นิวยอร์กจะมีกิจกรรประจำก็คือการจัดแสดงละคอนเชคสเปียร์ในโรงละคอนกลางแจ้งกลางเซ็นทรัลพาร์ค โดยคณะละคอนที่ชื่อว่า The Public Theatre (ที่นี่คณะละคอนเข้มแข็งมากจนจัดมีจัดตั้งเป็นสถาบันที่มีการจัดการแบบมืออาชีพจริงๆ) คณะละคอนนี้จะทำการระดมทุนจากบริษัทเอกชน และผู้บริจาคในการสร้างงานคุณภาพและจัดแสดงให้คนทั่วไปเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งทำต่อเนื่องมาแล้วเกือบหกสิบปี ซึ่งคณะละคอนเคลมว่างานของเขาจัดแสดงต่อผู้ชมแบบฟรีๆมาแล้วมากกว่าห้าล้านคน!! ฟังดูแล้วน่าตื่นเต้นมั้ยครับ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือเขามีวิธีจัดการอย่างไรกันจึงสามารถทำงานได้ต่อเนื่องยาวนานเช่นนี้

ข้อสังเกตโดยส่วนตัวนะครับ ผมคิดว่า ประการแรก The Public Theatre อยู่ในฐานะที่เป็น “สถาบัน” คือเป็นองค์กรที่มีตัวตน มีที่อยู่ชัดเจน และทำงานต่อเนื่องมายาวนาน เหตุที่คณะละคอนจะเป็นสถาบันเช่นนี้ได้ก็เพราะว่ามีการจัดการที่ดี ต่อเนื่อง และโปร่งใสไงครับ ประการที่สอง ผมคิดว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมการชมละคอนนั้นฝังอยู่รากของฝรั่งจริงๆ และบริษัทห้างร้านต่างๆเขาเห็นว่ามันคุ้มค่าที่จะสนับสนุนเงินให้กับงานศิลปะเหล่านี้ แต่เดี๋ยวก่อนครับ มันไม่ง่ายขนาดนั้น หากท่านเฉลียวใจบ้างจะพบว่าคณะละคอนนี้ไม่ได้ถือกระดาษสองสามใบเพื่อเข้าไปขอ Sponsor กับบริษัทขนาดใหญ่แน่ๆ สิ่งที่ทำให้ผมเชื่อเช่นนั้นเพราะ คณะละคอนย้ำเสมอว่าเขาทำงานฟรีให้คนดูมาแล้วห้าล้านคน ฟังดูแล้วมันสร้าง Impact อย่างใหญ่หลวงเพียงพอมั้ยครับที่จะทำให้บริษัทใหญ่ๆเงี่ยหูฟัง และเอาเข้าจริงแล้ว คณะละคอนมีแผนระดมทุนในการทำงานอื่นๆอีก ดังที่ท่านจะสามารถสืบค้นได้เอง และที่ผมจะเล่าต่อไปครับ กล่าวสั้นๆก็คือ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมศิลปินจึงต้องการนักจัดการที่เข้าใจความต้องการของศิลปะ

กลับไปที่วิธีการรับบัตรฟรีบ้างครับ ใครอยากชมละคอนเรื่องนี้ฟรีมีตัวเลือก 4 ทาง ดังนี้ 
1. แจกที่หน้าโรงละคอนตอน 12.00 น. - ช่องทางนี้แหละครับที่ผมได้รับบัตรมา และความน่าตื่นตาตื่นใจก็คือฝรั่งหอบเสื่อ หอบเก้าอี้มาต่อแถวนอนรอนั่งรอบัตรทุกวัน ตั้งแต่สวนยังไม่เปิด ที่ผมเคยเล่าว่าแถวยาวกว่าต่อคิดซื้อขนมในเมืองไทยก็วิธีนี้แหละครับ มองในแง่ Marketing บ้าง การที่คนต่อคิดขนาดนั้นมันสร้างกระแสให้กับละคอนได้ในหลายๆด้านนะครับ
2. รอลุ้นล็อตเตอรี่ทางโทรศัพท์ - ช่องทางนี้ก็ฟรีครับเพียงแค่คุณมีแอพ TodayTix และกดว่าจะเสี่ยงโชครอรับบัตรฟรีในตอนเช้า พอสักบ่ายสามระบบก็จะบอกแล้วครับว่าคุณได้บัตรหรือไม่
3. แจกตามองค์กรต่างๆ - อันนี้สำหรับชาว New Yorker จริงๆครับ โดยจะแบ่งบัตรบางส่วนไปแจกตามพิพิธภัณฑ์ โรงเรียน หรือสถานที่สาธารณะในเขตอื่นๆที่ไม่ใช่ Manhattan 
4. แจกบัตรที่โรงละคอนของ The Public เอง 

นอกจากนี้ใครไม่อยากลุ้นบัตรฟรีก็บริจาคให้คณะละคอนสิครับ $500 เหรียญ คุณก็จะสามารถจองที่นั่งได้เลย อย่างไรก็ตามผู้ที่จะรับบัตรทั้งหมดนั้นจะต้องลงทะเบียนในเว็บไซต์ของคณะละคอนเพื่อนำหมายเลขสมาชิกนั้นมาขอรับบัตร ซึ่งจะทำให้คณะละคอนตรวจสอบได้ว่าคุณไม่ได้มารับบัตรละคอนเรื่องเดิมซ้ำและทำให้บัตรกระจายไปสู่คนดูจำนวนมาก เห็นมั้ยครับ ถ้าคิดรอบๆ การเสนอวิธีรับบัตรถึง 4 แบบนั้นมีกลเม็ดเล็กๆน้อยซ่อนอยู่เสมอ เหนือสิ่งอื่นใด ในยุคที่ข้อมูลส่วนตัวของ “ลูกค้า” มีประโยชน์ต่อการต่อยอดองค์กร คณะละคอนก็ได้รับฐานข้อมูลผู้ชมที่สนใจงานละคอนจำนวนมหาศาลไปในทันทีตั้งแต่ตอนแจกบัตร ลองคิดเล่นๆว่าฐานข้อมูลของคณะละคอนนี้จะแข็งแกร่ง และเป็นประโยชน์ต่อคณะละคอนมากน้อยเพียงใด ลองคิดกันดูนะครับ

ข้ามไปถึงตอนก่อนแสดงและหลังแสดงกันบ้าง ก่อนเข้าชมแทนการเจาะบัตร หรือฉีกบัตรละคอน เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือสแกน QR Code จากบัตรแทน ตรงนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมาก ทำไมหนะหรือครับ ก็เพราะว่าห้องขายตั๋วจะทราบทันทีว่าใครรับบัตรแล้วไม่มาบ้าง นั่งตรงไหนบ้าง (บัตรระบุที่นั่ง) เพื่อที่จะออกตั๋วใหม่ให้กับผู้ชมอีกจำนวนหนึ่งที่เสี่ยงโชคมายืนรอหน้าโรงละคอนในนาทีสุดท้าย ทำให้ที่นั่งโรงละคอนเต็มชนิดที่ไม่ว่างเลย รอบที่ผมชมการแสดง มีการแจกบัตรให้แก่ผู้พิการทางการได้ยินด้วย โดยในโซนดังกล่าวจะมีการจัดล่ามภาษามือมาแปลให้แก่ผู้พิการเป็นพิเศษด้วย น่าชื่นชมมั้ยครับ หลังจากชมการแสดงจบแล้ว ผมก็ได้รับอีเมล์สอบถามความคิดเห็นจากคณะละคอนในเช้าวันรุ่งขึ้น ใช้เวลากรอกความคิดเห็นเพียงเล็กน้อย ถามแต่เฉพาะคำถามสำคัญๆ และเมื่อกรอกเสร็จแล้วผมก็ได้สิทธิในการลุ้นชมละคอนเรื่องต่อไปของคณะละคอนนี้เป็นการตอบแทน ถือว่าเป็นการใช้ระบบ และเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อลดขั้นตอนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก 

คนที่นี่ดูละคอนกันจริงจังจริงๆครับ คงพอๆกับนักดูละคอนในบ้านเรา คือละคอนสร้างปฏิสัมพันธ์ให้คนมารู้จักกันผมไปคนเดียวลำพังยังได้พูดคุยกับคนในแถวที่มานั่งรอบัตร และตอนที่ชมคนที่นั่งข้างก็ชวนคุยระหว่างพัก ชมเสร็จระหว่างเดินออกมาจากสวนและบนรถไฟฟ้า ผู้ชมที่เดินออกมาพร้อมกันต่างก็วิจักษ์วิจารณ์ละคอนเรื่องนี้ไปต่างๆนานา ถือว่าสนุกสนานและเป็นความทรงจำที่มีคุณค่ายิ่ง ซึ่งละคอนได้มอบประสบการณ์ผ่าน “พื้นที่” และ “เวลา”ให้กับคนในเมืองใหญ่ ได้เกิดปฏิสัมพันธ์กันในชนิดที่สื่ออื่นทำไม่ได้ 

หวังว่าท่านผู้อ่าน คงได้รับประโยชน์จากข้อสังเกตของผมไม่มากก็น้อย
วันนี้ว่ากันด้วยเรื่องการซื้อบัตรละคอน และรีวิวละคอนที่ได้ชมในช่วงที่อยู่ที่นิวยอร์กครับ
.
เริ่มประเด็นแรกด้วยเรื่องการซื้อบัตรกันก่อน การซื้อบัตรละคอนที่นี่ทำได้หลายวิธี ทั้งแบบล็อตเตอรี่ ซื้อทางเว็บไซต์ ซื้อที่บูธ Tkts และการซื้อด้วยตนเองที่โรงละคอนครับ โดยส่วนตัวผมเลือกใช้วิธีซื้อที่โรงละคอนสำหรับทุกเรื่องที่ได้ชมไปแล้ว เหตุผลที่ไม่ใช้วิธีอื่นมีดังนี้ครับ 
.
ประการแรก การซื้อบัตรแบบล็อตเตอรี่ต้องคอยกดแอพเสี่ยงโชคทุกเช้าเพื่อจะมีสิทธิซื้อบัครราคาถูกในรอบคืนวันนั้น ซึ่งแน่นอนว่าโอกาสถูกมีน้อยมาก ผมเคยถูกหวยละคอนนี้ครั้งหนึ่งครับ เจ้าหน้าที่โทรมากระชั้นชิดมากเพราะมีคนสละสิทธิไป ทำให้ผมต้องตอบปฏิเสธเพราะไปโรงละคอนไม่ทันในเวลาที่เขากำหนดแน่ๆ ประการต่อมา การสั่งซื้อบัตรทางเว็บไซต์มี “ค่าต๋ง” คือค่าธรรมเนียมในการออกบัตรค่อนข้างสูง อย่างบางทีผมเห็นโฆษณาละคอนที่อยากดูทางเว็บเขียนว่าราคาบัครเริ่มต้นที่เท่านั้นเท่านี้ พอเข้าไปซื้อจริงๆปรากฎว่าราคาบัตรหนะเท่านั้นจริง แต่บวกค่าต๋งเข้าไปอีกหลายเหรียญซึ่งตีเป็นเงินบาทไทยแล้วก็นับว่าแพงพอตัว ส่วนบูธ Tkts ที่ต่อคิวกันยาวยืดเพราะคิดว่าได้บัตรที่ถูกมากๆนั้น จากประสบการณ์ของผมบอกว่าไม่ได้ถูกจริงครับ เป็นแต่เพียงลดจากราคาเต็มลงมาเท่านั้น ดังนั้น วิธีที่จะได้บัตรถูกที่สุดคือ ไปซื้อที่ตนเองด้านหน้าโรงละคอนครับ
.
การซื้อบัตรที่ห้องขายตั๋วของโรงละคอนนั้น มีทั้งแบบซื้อในราคาเต็มและตั๋วถูก ถ้าเราตื่นไปแต่เช้าไปเข้าแถวเพื่อซื้อบัตรถูกของคืนวันนั้นจะได้ตั๋วถูกที่เรียกว่า Rush Ticket ครับ ส่วนใหญ่ผมใช้วิธีนี้ ได้ราคาบัตรถูกมากๆ ที่นั่งบางครั้งจะเป็น Partial View คืออาจเห็นเวทีไม่เต็ม มีฉากบังบ้าง แต่โดยรวมถือว่าโอเคครับ อย่างผมซื้อ Rush Ticket ของ Miss Saigon นี่ คือนั่งแถวหน้าติดเวทีเลย เรียกว่าดูจบหน้าเปียกน้ำลายนักแสดงไปเต็มๆครับ ด้วยความสอดรู้เลยไปถามคุณป้าที่นั่งติดกันว่าซื้อบัตรมาเท่าไหร่ ปรากฎว่าเธอซื้อจากบูธ... ราคาแพงกว่าเท่าตัวครับ!! นอกจากนี้ถึงแม้ละคอนบางเรื่องไม่มีบัคร Rush แต่การซื้อบัตรด้วยตัวเองก็ทำให้ไม่โดนหักค่าธรรมเนียมออกบัตรครับ อย่างตอนไปซื้อบัตร M.Butterfly นี่คือ ตอนแรกพนักงานออกตั๋วดุมาก หน้าคุณเธอจะไม่รับแขกไปไหน พอเธอถามว่าผมมากจากไหน ผมตอบ Thailand ไปเท่านั้นแหละครับ คุยกันยาวเลย เพราะเธอเคยมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่เมืองไทย ก็ถือว่าสนุกสนานดี
.
ทีนี้มาพูดถืงเรื่องรีวิวละคอนที่ดูไปแล้วบ้าง อันที่จริงตามตำราเขาบอกว่าจะรีวิวการแสดงให้ดีควรรีบเขียนหลังจากดูจบเพราะว่าความทรงจำ ความคิดต่างๆยังสดใหม่อยู่ แต่ผมไม่ว่างเลย จึงขอเขียนเป็นความเห็นสั้นๆเผื่อเป็นแนวทางสำหรับคนที่จะเลือกละคอนดูละกันครับ (ทั้งนี้ขอข้าม A Midsummer Night’s Dream เพราะเขียนไปแล้ว)
.
1. Miss Saigon เลือกดูเรื่องนี้เพราะความคลาสสิกของมันแท้ๆทีเดียวครับ ผมดูเวอร์ชันไทยแล้ว มาดูที่นี่อีกรอบ ถือว่าอรรถรสแทบจะคล้ายกัน งาน Production ตื่นตาตื่นใจตามสไตล์เฮลิคอปเตอร์ลง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดูสนุกๆไม่ต้องคิดอะไร ฉากสวย เพลงเพราะ เนื้อเรื่องน้ำเน่าเห็นเงาจันทร์แต่ก็กินใจตามสไตล์ที่ควรเป็นครับ ติดอย่างเดียวคือเรื่องจังหวะในการแสดงที่ดูรวนๆไปบ้าง แต่โดยรวมถ้าไม่คิดอะไรมากก็ดูเถอะครับ คุ้มราคาบัตรแน่ๆ
.
2. Chicago เรื่องนี้ก็ดูที่ไทยแล้วเช่นกัน แต่สาเหตุที่ทำให้ดูอีกครั้งนั้นตลกมาก เหตุผลนั้นก็คือวันนั้นเป็นวันจันทร์ละคอนส่วนใหญ่หยุดเล่น ผมตั้งใจจะไปซื้อบัตร Charlie and the Chocolate Factory ซึ่งอยู่ถัดไปอีกบล็อก แต่โง่หาโรงละคอนไม่เจอ เลยคิดว่าดูก็ดูครับ ซื้อบัตรถูก นั่งชิดติดเวทีอีกตามเคย ละคอนเรื่องนี้มี Stylize ที่ชัดเจน และน่าจะ Creative มากเมื่อตอนมันเปิดแสดงใหม่ๆครับ เป็นมิวสิคัลที่วาบหวาม เซ็กซี่ และเสียดสีสังคมไปพร้อมๆกัน โดยส่วนตัวถือว่าโอเคเลยครับ ถ้ามีโอกาสก็ดูเถอะครับ โดยส่วนตัวคิดว่ากระแสเริ่มแผ่วน่าจะถูกถอดออกจากบรอดเวย์ไม่ช้าก็เร็ว
.
3. Lion King เรื่องนี้ดูเพราะอยากดูจริงๆ บัตรถูกไม่มีก็กัดใจซื้อบัตรแพง เพราะจำได้แม่นว่าเมื่อหลายปีก่อนไปต่อคิวหน้าโรงที่ลอนดอนแล้วไม่ได้ดูเพราะบัตรแพงมาก ครั้งนี้เลยไม่อยากเก็บความรู้สึกว่ายังไม่ได้ดูนั้นไว้ในใจเลยยอมจ่าย ผลปรากฎว่านั่งที่นั่งดีเกินคาดครับ อยู่หลัง Conductor เลย ทำให้ผมตื้นตันกับการแสดงนี้เป็นพิเศษ เพราะมันเห็นความงามของการผสมผสานขององค์ประกอบต่างๆเข้าไว้ด้วยกันแบบสดๆที่ทำให้นึกถืงพลังของความสดใหม่ที่ศิลปินร่วมกันประกอบขึ้นเป็นการแสดงตรงหน้าเราตรงนั้น จบแล้วจบเลยครับ เราต่างก็ซื้อบัตรเข้ามาเพื่อดื่มด่ำกับประสบการณ์ในเสี้ยวเวลาหนึ่งเพื่อจะตราตรึงใจเราไปตลอดชีวิต หรืออาจจะไม่จดจำอะไรเลยก็ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพละคอนนะครับ อย่างไรก็ตามสำหรับ Lion King นั้นเป็นการแสดงที่ผสานองค์ประกอบต่างๆได้อย่างน่าชื่นชมครับ แค่ฉากเปิดที่ผองสัตว์วิ่งขึ้นมาบนเวทีผมก็น้ำตาไหลแล้ว ใครมีโอกาสมาจะพลาดชมได้หรือครับ
.
4. Charlie and the Chocolate Factory ในที่สุดก็ได้ดูสักทีครับ ซื้อบัตรถูกเช่นเคย แต่ที่นั่งดีจนน้ำตาไหล คืออยู่ Center เห็นองค์ประกอบบนเวทีชัดเจนครบถ้วนเกินราคาบัตรจริงๆ เนื้อเรื่องไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นครับ แต่งาน Production ดีงาม มีลูกเล่นครับ
.
5. M. Butterfly เคยอ่านแต่ตัวบท พอมันมาแสดงก็ต้องดูสิครับ เรื่องนี้เพิ่งเข้าโรงได้ไม่ถึงสัปดาห์ ทำให้มีหลายอย่างตะกุกตะกักไปบ้าง จริงๆต้องบอกว่าตะกุกตะกักค่อนข้างมากทีเดียวครับ เคยเชื่อว่าบรอดเวย์ต้องดีเลิศตอนนี้ต้องปรับทัศนคติใหม่ครับ ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าละคอนไม่ดีครับ ละคอนดี แค่ขอติงเรื่องความพร้อมเฉยๆ ส่วนที่เลิศประเสริฐศรีมณีเด้งสามเด้งสี่เด้งก็คืองานฉากครับ ออกแบบได้ชาญฉลาด มีลูกเล่น และนำเสนอ Style ได้คมชัด ใครสนใจด้านฉากควรมาดูครับ ไม่ได้ฟู่ฟ่า แต่แสดงออกถึงการคิดมาแล้วอย่างดี สำหรับเรื่องนี้คิดว่าอีกสักพักถ้าทุกฝ่ายเริ่มลงตัวแล้ว การแสดงจะดีขึ้นอีกมากครับ อนึ่ง เรื่องนี้เปลือยจริงอะไรจริงครับ สปอยส์ อิอิ
.
6. Aladdin สุดยอกการ์ตูนโปรดของผมในวัยเด็ก เพิ่งถูกดัดแปลงเป็นมิวสิคัลเมื่อไม่นานมานี้เองครับ คนแห่ไปดูกันเยอะ เพราะชื่อเรื่องมัน Big name มาก แต่ขอพูดตามตรงเถอะครับ ละคอนเรื่องนี้มีดีอย่างเดียวที่พรมวิเศษครับ นอกนั้นเป็นที่สุดของความผิดหวัง ทีแรกผมตั้งใจว่าจะไม่ดูแล้วเพราะคิดว่ายังไงก็แทนภาพในการ์ตูนในดวงใจไม่ได้ แต่กระนั้นเจ้าเพื่อนฝรั่งมันบอกว่าดีเลยไปดูครับ ปรากฎว่า... นักแสดงแย่งซีนกันเอง ตัวบทถูกปรับเปลี่ยนไปมากและอ่อนมาก รวมถึงฉากต่อสู้ก็ทำได้ก็องแก็งมากครับ มิวสิคัลอาหรับแห่งวิกรัชดายังทำได้น่าตื่นเต้นเร้าใจกว่าเยอะครับ ทั้งนี้ ผมอภัยให้กับละคอนเรื่องนี้ไม่ได้จริงๆ เหตุเพราะเราไม่ควรเอาคำว่าการ์ตูนมาเป็นข้ออ้างของความก็องแก็งในการแสดงครับ ถ้าเลือกจะดัดแปลงมันแล้วก็ควรจะทำให้สุดไปสักทางครับ
.
บ่นมาค่อนข้างยาว ขอบ่นทิ้งท้ายสำหรับคนที่ไปชมละคอนทุกท่านว่า กรุณาอย่าใส่หมวก ทำผมทรงหัวฟู แล้วเอาแว่นมาคาดไว้บนศีรษะเลยครับ สงสารคนนั่งข้างหลังครับ เห็นคนเหล่านี้แล้วเซ็งไปยาวๆเลยครับ จึงขอจบการกล่าวถึงวิธีซื้อบัตรและรีวิวละคอนแต่เพียงเท่านี้ครับ ถ้าอารมณ์ดีและว่างยังมีประเด็นอื่นๆเกี่ยวกับประสบการณ์การชมละคอนที่นี่ซึ่งสามารถนำออกมาแตกเป็นเนื้อหาอื่นๆได้อีก สำหรับวันนี้พอเท่านี้ก่อนครับ
Back to Top