(1) ว่าด้วย Stage Management และคาถา 3 ข้อในการทำงานละคอน...
ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นอยู่อย่างหนึ่งว่า “เรียนอะไรเรียนให้ซึ้งถึงแก่นสาร” คือเมื่อเลือกเรียนแล้วต้องรู้รอบและรู้ลึก เมื่อบากบั่นเข้าถ้ำเสือมาแล้วก็ต้องหอบเอาลูกเสือกลับบ้านไปให้ได้ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงฝังตัวเองเข้าไปอยู่ในฝ่ายงานต่างๆของโรงเรียนเพื่อศึกษาระบบและเรียนรู้วิธีคิดวิธีการจัดการในแบบอเมริกัน เพื่อหาคำตอบว่าเหตุใดงานละคอนบ้านเมืองเขาถึงมั่นคงนัก หนึ่งในวิธีที่จะรู้ว่าเขามีระบบการทำงานละคอนอย่างไรก็คือการฝังตัวเข้าไปในโปรดักชั่นจริง ใน Season นี้ข้าพเจ้าจึงเสนอตัวเข้าไปทำงานในตำแหน่ง Stage Manager ของละคอนเรื่องหนึ่งในสาขา เพื่ออาบทั้งน้ำร้อนน้ำเย็นเป็นหนังหน้าไฟจนรู้ทะลุปรุโปร่งว่าเขาทำงานกันอย่างไร และทำอย่างไรการทำงานจึงราบรื่นนัก เมื่องานจบแล้วก็เห็นควรว่าควรบันทึกประสบการณ์นี้ไว้กันลืม และแบ่งปันให้ผู้อื่นด้วยหากจะเป็นประโยชน์ จึงขอแบ่งเรื่องออกเป็น 4 ตอนจบ โดยตอนแรกนี้ให้ชื่อว่า Theatre as a collaborative work
ละคอนคืองานสร้างสรรค์ร่วมกัน เป็นเรื่องที่ใครๆก็ทราบกันดีอยู่ แต่มีคาถาอยู่ 3 ข้อ ที่ทำให้การทำงานละคอนที่นี่ราบรื่น เป็นมืออาชีพ และปราศจากดราม่า คาถา 3 ข้อนี้ข้าพเจ้าสังเคราะห์ขึ้นจากประสบการณ์ตรง คือ 1.แบ่งงานกันชัดเจน 2.รับผิดชอบหน้าที่ตนเองอย่างเต็มที่ 3.ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ผู้อื่น เป็นคาถาที่ง่ายมาก แต่ในทางปฏิบัตินั้นเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ข้าพเจ้าจักอรรถาธิบาย ดังนี้
การแบ่งงานกันชัดเจน - เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่งานโปรดักชั่นส่วนใหญ่แบ่งหน้าที่กันงานเป็นฝ่ายงาน เช่น ผู้กำกับการแสดง ผู้ออกแบบฝ่ายต่างๆ เป็นต้น หน้าที่เหล่านี้ที่เมืองไทยเรามีอยู่แล้ว รายละเอียดหน้างานเหมือนหรือต่างกันบ้างเล็กน้อย กระนั้นก็มีบางตำแหน่งงานที่เราไม่ค่อยพูดถึงในการทำงานละคอนในไทย หรือหากมีก็เป็นการนำคำฝรั่งมาใช้ในบทบาทซึ่งสับสนเหลือเกิน เป็นต้นว่า Production Manager และ Technical Director คนแรกเป็นผู้จัดการการสร้างงานละคอนทั้ง Season ดูแล Budget จัดหากำลังคน วางตารางและคอยตรวจว่างาสำเร็จตามระยะต่างๆหรือไม่ ส่วนคนหลังเป็นคนควบคุมงานสร้างฉากให้เป็นจริง นอกจากนี้ยังมีหน้าที่อื่นๆอีกที่เมืองไทยไม่มี เช่น Prop Master จะเก็บไว้เล่าเมื่อโอกาสมาถึง หน้าที่เหล่านี้แบ่งกันชัดเจนแล้วตั้งแต่เริ่มต้นงาน และ Production Manager จะรู้จังหวะว่าหน้าที่ใดต้องเข้ามาทำงานเมื่อใด เสร็จงานเมื่อใด จึงทำให้คนหนึ่งคนอาจจะสามารถทำงานหลายโปรดักชั่นได้พร้อมกัน ตราบเท่าที่ตารางงานไม่คาบซ้อนกัน
รับผิดชอบหน้าตนเองให้เต็มที่ - เป็นส่วนต่อเนื่องจากส่วนแรก คือรู้อยู่ 2 สิ่ง คือรู้ว่าหน้าที่ตนเองคืออะไร และรู้ว่าหน้าที่ตนเองไม่ต้องทำอะไร การรู้สองสิ่งนี้ทำให้ต่างฝ่ายต่างไม่กังวลซึ่งกันและกัน ข้าพเจ้านั่งอยู่ใน Production Meeting สัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่าโดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องตามงานจากฝ่ายใดๆ เพราะทุกฝ่ายเตรียมงานของตน พร้อมข้อคำถามเข้ามานำเสนอและถกอภิปรายในที่ประชุมทุกครั้ง สิ่งนี้ทำให้ผู้ร่วมงานทุกฝ่ายทำงานโดยปราศจากข้อกังวล เพราะรับผิดชอบเฉพาะงานในส่วนของตนอย่างดีที่สุด โดยไม่ต้องคอยลุ้นว่าอีกฝ่ายจะทำงานล่าช้า หรือเสร็จไม่ทันตามกำหนด
ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ผู้อื่น - อีกเช่นเคยว่าต่อจากข้อข้างต้น การไม่ก้าวก่ายงานผู้อื่นนี้เป็นการให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน ตัวอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในห้องซ้อม เมื่อนักแสดงคนหนึ่งหมดหน้าที่ในฉากหนึ่งซึ่งอยู่ในตารางซ้อมวันนั้นแล้ว นักแสดงถามผู้กำกับขึ้นว่า “เขาสามารถกลับได้แล้วหรือยัง?” ผู้กำกับตอบโดยทันทีว่า “ได้” หลังจากนั้นเธอก็คิดอะไรได้อย่างหนึ่ง... เธอกล่าวต่อไปว่า “เดี๋ยวก่อน ให้ถามผู้กำกับเวทีโดยตรง เพราะเขามีหน้าที่ในการเรียกให้ใครอยู่หรือปล่อยใครออกจากห้องซ้อม” นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายตัวอย่างที่ข้าพเจ้าเจอมากับตัวในเรื่องของการไม่ก้าวก่ายงานซึ่งกันและกันซึ่งน่าประทับใจมาก ผกก. อาจใช้อำนาจสั่งการไปเลยย่อมได้ แต่ที่เธอไม่ทำเพราะไม่ต้องการก้าวล่วงสายการบังคับบัญชา (Line of Authority)

จำคาถา 3 ข้อนี้ไว้ แล้วใช้พิจารณาถึงประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าจะเล่าเกี่ยวกับการทำงาน Stage Management ในตอนต่อไปได้เสมอ พรุ่งนี้จะเขียนถึงลำดับการซ้อมละคอน และเอกสารเกี่ยวเนื่อง
(2) ว่าด้วยกระบวนการซ้อมละคอน ธรรมเนียม และเอกสารเกี่ยวเนื่อง...
ช่วงของการประชุม Production และการ Audition นั้น ข้าพเจ้าได้เคยเขียนเล่าไว้บ้างแล้วจึงจะขอละไว้ไม่เขียนซ้ำ จึงจะขอข้ามไปถึงการซ้อมละคอนเสียเลย การซ้อมละคอนหรือการเรียกนักแสดงมาซ้อมนั้นแทบจะเป็นกระบวนการหลังสุดภายหลังจากผู้กำกับและทีมออกแบบต่างๆหารือถกเถียงกันครั้งแล้วครั้งเล่าจนได้แบบร่างที่ใกล้เคียงกับที่สร้างจริงแล้ว ดังที่ได้กล่าวไป Production Manager (PM) ไปวางแผนมาเรียบร้อยแล้วว่าอะไรต้องเสร็จเมื่อไหร่ และจะมีการติดตามงานตามแผนนั้น ครั้นเมื่อจะเริ่มซ้อมเข้าจริงๆ PM ก็จะเชิญ ผกก. กับทีมออกแบบมาประชุมกันอีกครั้งเรียกว่า “Green Light Meeting” เป็นการเคาะครั้งสุดท้ายว่าด้วยความจำกัดต่างๆที่มีเราจะทำอะไรกันแค่ไหน เมื่อเคาะไฟเขียวตรงกันแล้วก็เป็นอันว่าจะเดินหน้าต่อจากความเข้าใจตรงนั้นไม่กลับมาเถียงกันอีก ฝ่ายฉากก็เริ่มสร้างฉากไป ฝ่ายชุดก็จะเริ่มสั่งซื้อเสื้อผ้า หรือเริ่มต้นตัดเย็บ ในกระบวนการเตรียมงานละคอนนี้ ข้าพเจ้าจะนำเสนอให้เห็น 3 ส่วนงานใหญ่ๆที่ทอดยาวเป็นเส้นขนานไปข้างหน้าต่อเนื่องกันไปซึ่งจะไปบรรจบในจุดสุดท้ายของการสร้างงานละคอน 3 ส่วนงานนั้นคือ 1.งานธุรการ 2.งานออกแบบพร้อมจัดสร้าง และ 3.งานซ้อม

งานธุรการ - จำคาถา 3 ข้อเมื่อวานได้มั้ยครับ คือ แบ่งงานชัดเจน รับผิดชอบหน้าที่ตนเองเต็มที่ และไม่ก้าวก่ายงานผู้อื่น กฎ 3 ข้อนี้ยังจริงเสมอ เพราะงานธุรการต่างๆ เช่น การออกแบบโปสเตอร์ การตลาด การขายบัตร สูจิบัตร การเดินบัตร เป็นส่วนที่แยกต่างหากโดยมีฝ่าย Marketing ของโรงเรียนซึ่งดำเนินการโดยนักศึกษาเป็นคนจัดการทั้งหมด หัวหน้าฝ่าย Marketing จะต้องส่งตัวแทนมาประชุม Production Meeting สัปดาห์ละครั้งขาดไม่ได้ เมื่อมีข้ออัพเดท คำถาม จากทีมผู้สร้าง แต่ทีมไม่ต้องงพะวงเรื่องงานธุรการใดๆ ขอเพียงแต่สร้างสรรค์งานละคอนออกมาให้ดีที่สุดเป็นพอ การหาคนมาชมเป็นหน้าที่ของฝ่ายอื่น
งานออกแบบพร้อมจัดสร้าง - งานออกแบบและงานสร้างที่นี่ทำแยกส่วนกัน คือนักออกแบบทำหน้าที่ออกแบบไป ทีมสร้างนั้นจะแปลงการออกแบบดังกล่าวออกมาเป็นชิ้นงานจริง พูดให้ง่ายเข้าก็คือ ผู้ออกแบบฉากเมื่อออกแบบแล้วก็ส่งแบบมาที่ Technical Director ซื่งจะมีตารางชัดเจนว่าจะเริ่มสร้างฉากเมื่อไหร่เสร็จเมื่อใด ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายก็เช่นกัน มีหน้าที่ออกแบบให้เสร็จสิ้นบริบูรณ์แต่เมื่อถึงกระบวนการตัดเย็บเข้าจริงก็มี Costume Shop Manager มาสานฝันจนเป็นจริง แรงงานสร้างนั้นไม่ใช่ใครอื่น ก็เป็นนักศึกษาในสาขานั่นเองที่มีตารางเข้า-ออกงานชัดเจน ดังนั้น ผู้จัดการสร้างเหล่านี้จะต้องเป็นผู้วางแผนว่าในภาระงานเท่านี้ เวลาเท่านี้จะทำงานให้เสร็จอย่างไร ทั้งนี้รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์แสงและเสียงก็ใช้ระบบเช่นนี้ด้วย
งานซ้อม - งานซ้อมนั้นเมื่อนักแสดงถูกคัดเลือกมาแล้ว กระบวนการแรกก็ First Reading ตรงนี้ที่ไทยก็ทำเหมือนกัน มาสะดุดอยู่ตรงที่ว่า ผกก. ที่ข้าพเจ้าทำงานด้วยแต่ละคนที่นี่มีวิธีอ่านบทต่างกัน ไม่ใช่สักแต่ว่าอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางโปรดักชั่นเป็นงานทดลอง ผกก. จะมีวิธีช่วยให้นักแสดงหาวิธีเข้าถึงบทในแบบเฉพาะต่างกันไป (ขอละไม่เล่าในรายละเอียดเพราะจะนอกเรื่อง) เมื่ออ่านบทกันแล้ว ก่อนจะเข้าห้องซ้อม PM จะนัดผู้ออกแบบฉากกับ Stage Manager (SM) ไปติดเทปในห้องซ้อม การติดเทปนั้นจะติดในอัตราส่วนจริงเท่ากับพื้นที่เวทีเป็นการแสดงเครื่องหมายว่าตรงใดเป็นเวที ที่ใดเป็นเสา เป็นกำแพง ฯลฯ เมื่อเราถูกจัดให้ซ้อมห้องใดแล้วจะซ้อมห้องนั้นเสมอไม่มีการเปลี่ยนห้องซ้อม ตอนเช้าห้องซ้อมใช้ในการเรียนการสอนปกติ ต่อเมื่อตกเย็นแล้วก็จะกลายร่างเป็นห้องซ้อมโดยสมบูรณ์ เฟอร์นิเจอร์บนเวทีจะมีของแทนจัดมาไว้ให้ใช้ก่อน เช่นเดียวกับอุปกรณ์ประกอบฉาก Props ซึ่งฝ่าย Prop Master จะดึงออกมาจากห้อง Prop มาให้เราใช้ซ้อมไปก่อน ขาดเหลือสิ่งใดก็สามารถขอได้ กระบวนการซ้อมเช่น Blocking, Polishing ต่างๆนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนจึงละไว้ในฐานที่เข้าใจ แต่มีบางส่วนที่ควรบันทึกไว้ ดังนี้

ใครถือกุญแจห้องซ้อม? - โรงละคอนและอาคารเรียนที่นี่ไม่มียามเฝ้า (อาจเพราะค่าแรงแพง) ทุกอาคารรักษาความปลอดภัยโดยกล้องวงจรปิดและประตูล็อคอัตโนมัติ เมื่อถึงเวลาหนึ่งๆประตูอาคารจะปิดลงไม่ให้คนนอกเข้า แต่คนที่อยู่ในตึกสามารถออกจากอาคารได้ทุกเมื่อ PM จะมอบเซ็ตกุญแจโรงละคอนให้ SM ถือไว้ตลอดระยะเวลากว่าสองเดือนที่ซ้อม เซ็ตกุญแจดังกล่าวประกอบด้วยกุญแจอาคาร และกุญแจโรงละคอนทุกประตู กุญแจห้องซ้อม กุญแจห้อง Make up กุญแจห้องแต่งตัว รวมถึงกุญแจออฟฟิศ ดังนั้น SM จึงต้องเป็นคนที่มาถึงห้องซ้อมคนแรกเพื่อจัดเตรียมฉาก Props ทุกอย่างให้พร้อมสำหรับซ้อมและออกจากห้องซ้อมเป็นคนสุดท้าย
การเรียกซ้อม - การเรียกซ้อมเป็นหน้าที่ของ SM โดยจะหารือกับผู้กำกับ และส่งแบบฟอร์มการเรียกซ้อมทางเมล์ไปยังนักแสดงทุกคน โดยในฟอร์มจะระบุเวลาชัดเจนว่าใคร? ถูกเรียกมาในเวลาใด? เพื่อทำอะไร? เมื่อหมดหน้าที่แล้วนักแสดงก็กลับบ้านได้ ไม่ต้องอยู่รอกลับพร้อมเพื่อน การเรียกซ้อมนี้ SM จะส่งเมล์เรียกทุกวัน เรียกว่า Daily Call
ตารางซ้อม - ระบบการซ้อมละคอนแบบอเมริกันต่างกับแบบยุโรปและเอเชียเราอยู่อย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าการแสดงเล็กหรือใหญ่ซับซ้อนแค่ไหน ตารางซ้อมมาตรฐานคือ 8-10 weeks ไม่เกินไปกว่านี้ ข้าพเจ้าเดาเอาเองว่าคนอเมริกันนี่ต้องดิ้นรนเลี้ยงชีพกันไม่น้อย เวลาทุกอย่างเป็นเงินเป็นทอง นักแสดงหลายคนแม้จะได้ทุกเรียนฟรีก็ต้องทำงาน Part-time ตามร้านค้า ซุปเปอร์มาเก็ตต่างๆร่วมไปด้วย ดังนั้น เขาจึงตรงต่อเวลา และเคารพเวลากันมาก เมื่อมาถึงห้องซ้อมแล้วต้องพร้อมทำงานทันที
เวลาซ้อม - แม้โรงเรียนจะทำละคอนเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา แต่โรงเรียนใช้ระบบการทำงานแบบมืออาชีพจริงๆ กล่าวคือ เวลาซ้อมนั้นยึดตามเกณฑ์ของสหภาพนักแสดง (ACTORS' EQUITY ASSOCIATION) PM ส่งโน้ตมาถึงข้าพเจ้าทีเดียวตั้งแต่เริ่มต้นวางตารางซ้อมว่า ทุกๆการซ้อม 55 นาที จะต้องพัก 5 นาที แต่หากซ้อมเกินไปนาทีที่ 56 จะต้องพัก 10 นาที ทั้งนี้จะซ้อมต่อเนื่องได้ไม่เกิน 80 นาทีจะต้องพัก ไม่มีข้อยกเว้น ข้าพเจ้ามีหน้าที่จับเวลาและแจ้งทุกครั้งว่าพักกี่นาที การพักซ้อมนี้มีธรรมเนียมที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือเมื่อข้าพเจ้าขานเวลาพักที่เหลือขึ้นในห้องซ้อมเช่น “Two minutes to be back” จะเป็นธรรมเนียมที่ทีมงานจะขานรับขึ้นพร้อมกัน หรือต่อๆกันว่า “Thank you two” และเมื่อจะเริ่มซ้อมอีกครั้งข้าพเจ้าจะขานว่า “We are back” ทุกคนจะขานรับว่า “Thank you back” โปรดักชั่นไหนโปรดักชั่นนั้นเป็นธรรมเนียม
บันทึกการซ้อม - เคยกล่าวแล้วฝรั่งเป็นนักจดบันทึกเหลือเกิน ทุกขั้นตอนการทำงานจะต้องมีการจดบันทึกด้วย PM จะสร้างฟอร์มเป็น Format ขึ้นชุดหนึ่งเพิ่อให้ SM กรอก ในแต่ละวันข้าพเจ้าจะต้องบันทึกว่าใครขาดซ้อม ใครมาสาย มีแขกมาสังเกตการณ์ซ้อมหรือไม่ และจะต้องลงเวลาอย่างละเอียดว่าเริ่มซ้อมกี่โมง พักกี่นาที กี่รอบ หลังจากนี้จะเป็นตารางไล่ลำดับลงไปถึงทุกฝ่ายงาน เป็นต้นว่า ฉาก พร็อบ ชุด แสง เสียง ฯลฯ หากมีสิ่งใดที่จะต้องบอกกล่าวไปยังฝ่ายต่างๆ SM จะกรอกลงในช่วงนั้น โดยขึ้นต้นประโยคว่า NOTE:, REQUEST:, QUESTION:, ตามแต่กรณี และทุกคืนหลังซ้อมเสร็จบันทึกการซ้อมเสร็จจะถูกส่งเป็นอีเมล์เวียนไปยังทีมงานทุกฝ่ายทันที ข้าพเจ้าเคยสงสัยว่าบันทึกเช่นนี้มีประโยชน์อย่างไร? และข้าพเจ้าก็พบคำตอบว่าบันทึกการซ้อมนี้มีประโยชน์มากก็เมื่อข้าพเจ้าร้องขอไปยัง Props Master ว่าเราต้องการแก้วไวน์สักสองใบในการซ้อม ในคืนนั้นหรืออย่างช้าก็วันรุ่งขึ้น Props Master จะเมล์กลับมาทันทีว่ารับทราบจะจัดการให้และคืนต่อมาเมื่อเรามาถึงห้องซ้อมแก้วไวน์ที่เราต้องการก็จะมาวางรอเราทันที วิธีการเช่นนี้รวมถึงฝ่ายอื่นๆด้วย นั่นหมายความว่าทุกคนในทีมอ่านบันทึกการซ้อม บันทึกการซ้อมทำให้ฝ่านออกแบบและฝ่ายจัดสร้างได้ติดตามการซ้อมทุกคืนโดยที่ไม่ต้องเข้ามาดูซ้อมเอง และมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไม่มีการหลงลืม
เอกสารอื่นๆ - เอกสารอื่นๆกันเกี่ยวเนื่องกับงาน Stage Managment มีตั้งแต่แบบฟอร์มข้อมูลส่วนตัวของนักแสดง เช่นว่า มีประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุหรือไม่? หากเกิดเหตุฉุกเฉินติดต่อใคร ไปจนถึงเอกสารยินยอมให้โรงเรียนสามารถบันทึกและเผยแพร่ภาพได้ (ข้าพเจ้าเคยเล่าถึงแบบฟอร์มนี้แล้ว) ทั้งนี้นักแสดงอาจจะระบุไม่ยินยอมก็ย่อมได้ ตามเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย เอกสารเหล่านี้ SM ต้องรวมเป็นแฟ้มและพกติดตัวมาที่ห้องซ้อมทุกวัน
ธรรมเนียมที่น่าสนใจอื่นๆ - ทุกครั้งที่มีการเปิดปิดไฟหรือเสียง จะมีธรรมเนียมที่ผู้กระทำการดังกล่าวจะต้องขานดังๆให้คนทั้งห้องได้ยินว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยขานสั้นๆ เช่น “Light” หรือ “Sound” ธรรมเนียมนี้ป้องกันอุบัติเหตุหรือการตื่นตกใจจากกระทำโดยฉับพลัน นอกจากนี้ แม้เราจะมองว่าฝรั่งนั้นทักทายด้วยการจับมือ กอด หรือหอมแก้มกันเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามาอยู่ในสังคมจริงๆจะสัมผัสได้ว่าคนอเมริกันไม่แตะต้องตัวผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต การทักทายโดยการกอดหรือชนแก้มนั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความสนิทสนมกันประมาณหนึ่งแล้วเท่านั้น แนวคิดดังกล่าวนี้มาปรากฏชัดในห้องซ้อมละคอน คือ เมื่อมีฉากที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องแตะตัวอีกฝ่าย จะเป็นธรรมเนียมเลยว่าฝ่ายที่จะแตะตัวคนอื่นนั้นจะออกปากขึ้นก่อนเลยว่า “Would you mind if I touch you?” เป็นธรรมเนียมดังนี้

พรุ่งนี้ขอกระโดดข้ามไปถึงขั้นตอนการซ้อมที่เรียกว่า Technical Rehearsal กันเลยนะครับ
(3) ว่าด้วย Technical Rehearsal…
กระบวนการซ้อมทางเทคนิคนั้นถือเป็นการประกอบร่างส่วนต่างๆของงานละคอนเข้าด้วยกัน โดย PM จะส่งตารางโดยละเอียดมาที่ข้าพเจ้าล่วงหน้าประมาณสองสัปดาห์เพื่อแจกจ่ายให้ทีมงานทุกฝ่าย ในตารางงานนี้จะแนบรายชื่อ Crews มาด้วย ซึ่งแยกเป็นฝ่ายเคลื่อนย้ายฉากพร็อบ เครื่องแต่งกาย และบอร์ด ทีม Crews เหล่านี้เข้ามาในช่วงท้ายสุดและเข้าออกงานตรงเวลา PM จะเป็นคนกำหนดจำนวนทีมให้สอดคล้องกับความซับซ้อนของแต่ละโปรดักชั่น ทั้งนี้กระบวนการซ้อมทางเทคนิคจะเรียกโดยรวมว่า Tech Week ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นสัปดาห์ที่หฤหรรษ์ที่สุด ขั้นตอนต่างๆมีดังนี้
Cue to Cue Meeting: จะเกิดขึ้นก่อนใครเพื่อน โดย SM และผู้ออกแบบฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงและเสียงจะมาประชุมกันเพื่อทำการลำดับคิวให้ SM ซึ่งทำหน้าที่ขานคิว (Call Show) ทราบว่าจะให้ขานคิวใดเมื่อใด ทั้งผู้ออกแบบแสงและเสียงจะต้องทำ Cue Sheet ของตัวเองเตรียมมาก่อนเข้าประชุม เมื่อถึงเวลาประชุมจะลำดับคิวตั้งแต่เริ่มจนจบโดย SM จะเป็นผู้บันทึกคิวต่างๆลงในบทเพื่อเตรียมขานคิว
Crew Watch: ตัดภาพกลับไปที่ห้องซ้อม เมื่อซ้อมกันจนถึงขั้น Run Through และจะย้ายเข้าโรงกันแล้ว ในตาราง Tech Week จะระบุว่าวันใดจะเป็นวันที่ Crews ทุกฝ่ายจะเข้ามาดูซ้อม เพื่อให้ Crews ทุกฝ่ายเห็นภาพรวมที่จะเกิดขึ้นทั้งการแสดง
Dark Night: คือวันหยุด ทีมงานทุกฝ่ายจะหยุด 1 วันก่อนที่จะถึง Tech Week ที่กำหนดเช่นนี้ก็เพื่อให้ทุกคนได้พักก่อนที่จะทำงานต่อเนื่องติดต่อกันเป็นสัปดาห์
Cue to Cue Rehearsal: กระบวนการนี้ถือว่าเป็นการประกอบร่างอย่างแท้จริง และกินเวลายาวนานมาก เพราะจะต้องซ้อมคิวต่อติวให้ผู้กำกับการแสดงดูภาพจริงที่จะเกิดขึ้นบนเวที เมื่อดูแล้วทั้งคิวแสงและเสียงซึ่งเตรียมกันมาเป็นกระบุงโกยก็เป็นอันถูกหั่นถูกเฉือนออกเป็นอันมากตามความเห็น ผกก. ภาระการขานคิวต่อคิวนี้กลายเป็นความท้าทายสำหรับเอเชียหัวดำอย่างข้าพเจ้าอย่างมาก เพราะรับงาน SM ซึ่งต้องขานคิวออกไมค์สั่งคนทั้งโรงละคอนให้เป็นไปตามคิวที่วางไว้ มิหนำซ้ำหูข้างหนึ่งก็ต่อเข้า Headphone เพื่อรับคำสั่ง PM ซึ่งเป็น Mentor อยู่หูหนึ่ง อีกหูหนึ่งก็ต้องฟัง ผกก. ว่า ถูกใจจังหวะในคิวนั้นๆหรือไม่ จะให้แก้อย่างไร เป็นอันว่าเฉพาะสื่อสารกันเฉยๆข้าพเจ้าก็ประหม่าพอควรอยู่แล้วเพราะไม่ใช่เจ้าของภาษา ครั้งนี้เรียกว่ามาพร้อมกันทุกทิศทางก็ทำได้แต่กลั้นใจว่า “ท่านทำได้ ถ้าท่านเชื่อว่าท่านทำได้” จึงดำเนินมาโดยรอดปลอดภัย ทั้งนี้ เห็นควรบันทึกคำศัพท์เฉพาะบางอย่างเอาไว้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากการทำงาน Cue to cue นี้ ศัพท์นั้นได้แก่

1. Hold ใช้เมื่อขานให้นักแสดงหยุดชั่วคราว
2. Start from “script” ใช้บอกให้นักแสดงรู้ว่าให้เริ่มต้นแสดงจากบทส่วนไหน
3. Whenever you ready ใช้บอกให้นักแสดงเริ่มแสดงเมื่อพร้อม เพราะในเวลาทำ Cue to cue เราต่างนั่งอยู่ในความมืดซึ่งนักแสดงจะไม่เห็นเลยว่าบอร์ดนั้นพร้อมแล้วหรือยังที่จะให้เขาเริ่มแสดงได้ จึงต้องให้สัญญาณ
4. การเรียกตำแหน่งบนเวที ถ้าเป็นแบบ Proscenium Stage นั้นเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าเรียก Upstage Downstage และ Left Right ตามนักแสดง แต่สำหรับ
โปรดักชั่นนี้เป็น Thrust Stage ดังนั้นจะเรียกซ้ายขวาหน้าหลังแบบนั้นไม่ได้ วิธีการเรียกตำแหน่งบน Thrust Stage จึงใช้เป็นตำแหน่งตามเข็มนาฬิกาโดยมองจากด้านผู้ชมปลายเวทีขึ้นไป เราจึงขานว่าต้องการให้นักแสดงเดินไปที่กี่นาฬิกาเป็นต้น เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดนี้แล้วจึงเข้าสู่การซ้อมใหญ่ Dress Rehearsal

ทั้งนี้ ควรบันทึกไว้ด้วยว่าคาถา 3 ข้อนั้น ยังวนเวียนอยู่ไม่ไปไหน เมื่อถึง Tech Week นั้น ทั้งฉาก แสง เสียง จะติดตั้งเรียบร้อยทันทีที่เราย้ายเข้าโรงละคอนโดย SM เช่นข้าพเจ้าไม่ต้องอนาทรร้อนใจเลย Prop Master จะตั้งโต๊ะพร็อพซึ่งติดเทปเรียบร้อยโดยระบุว่าอะไรอยู่ตรงไหนเพื่อให้สะดวกในการหยิบใช้ เนื่องจากบอร์ดคอนโทรลทั้งหลายจะถูกย้ายขึ้นไปไว้ที่ชั้นลอยด้านข้างเวทีโดยที่ข้าพเจ้าจะขานคิวผ่านกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ทั่วทั้งโรงละคอน ดังนั้น ฝ่ายเทคนิคของโรงละคอนจะถามข้าพเจ้าว่าต้องการเปลี่ยนมุมกล้องหรือไม่ และใน Headphone นั้นต้องการสื่อสารกับใครและไม่ต้องการได้ยินเสียงใครบ้าง เขาก็จะรับเป็นธุระในการจัดการให้ทุกอย่าง จะเห็นได้ว่าต่างคนต่างรู้หน้าที่ของตนชัดเจน และทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ ทำให้ทุกกระบวนการฝึกซ้อมดำเนินไปอย่างราบรื่นปราศจากความกังวล หรือความรีบร้อน การประกอบงานต่างๆไม่ใช่ไม่มีปัญหา ปัญหาย่อมมีแต่ไม่ใช่ปัญหาจากความไม่พร้อมหรือประมาทเลินเล่อ ผลานิสงส์นี้ย่อมเกิดจากระบบที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพจริงนั่นเอง

พรุ่งนี้เป็นตอนสุดท้ายจะเล่าถึงวันแสดงจริงและกระบวนการหลังจบการแสดง
(4) ว่าด้วยวันแสดงจริงและหลังจบการแสดง...
ก่อนที่จะว่ากันด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นในวันแสดง ข้าพเจ้าได้อ่านทวนข้อความเดิมแล้วเห็นมีข้อสังเกตที่ตกหล่นอยู่สองอย่างควรบันทึกไว้ อันแรกคือ Director’s Note กับ Line Note มาพูดถึงโน้ตจาก ผกก. เสียก่อน ผกก. จะทำงานโดยตรงกับผู้ช่วยผู้กำกับ โดยทุกครั้งที่ซ้อม ผกก.จะมุ่งความสนใจไปที่การแสดงของนักแสดง เมื่อมีโน้ตอะไร ผกก.ก็จะกระซิบให้ผู้ช่วย ผกก. โน้ตสิ่งต่างๆเหล่านั้นไว้ เมื่อซ้อมเสร็จ ผกก. จะเลือกโน้ตที่สำคัญจริงๆขึ้นมา Comment หลังซ้อม ส่วนโน้ตที่เหลือผู้ช่วยจะส่งเมล์โดยตรงไปยังนักแสดงทุกคนโดยนักแสดงต้องอ่านโน้ตมาก่อนเข้าซ้อมในวันถัดไปเพื่อปรับปรุงตามความเห็นของ ผกก. ส่วน Line Note นั้นเป็นเสมือนการตรวจว่านักแสดงพูดบทตรงตามสคริปท์หรือไม่ SM จะบันทึกว่านักแสดงดัดแปลง ต่อเติม หรือตัดต่อสคริปท์ส่วนใดบ้าง เพื่อส่งให้นักแสดงปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามสคริปท์ Line Note นี้จะทำหลังจากวันที่กำหนดให้ Off Book คือการเลิกถือบทมาซ้อมแล้วนั้นเอง
เมื่อถึงวันแสดงจริงเข้าแล้ว หน้าที่ผู้กำกับการแสดงก็สิ้นสุดลง ความรับผิดชอบทั้งหมดถ่ายโอนมาที่ Stage Manager ในการดูแลประคับประคองให้การแสดงนั้นอยู่ในรูปในรอยที่ผู้กำกับวางเอาไว้ ในวันแสดงจริงนั้นประกอบด้วย Pre-show, Show, และ Post-show duties

Pre-Show Duties - กระบวนการก่อนเริ่มการแสดงแต่ละวันเริ่มที่ข้าพเจ้าเป็นคนไขเปิดประตูโรงละคอนและห้องทุกห้อง หลังจากนั้น Crews ต่างๆจะเข้ามาทำงานตามที่ได้รับมอบหมายไว้เป็นต้นว่า Check Props ล้างแก้ว เติมน้ำที่จะใช้ในฉาก ฝ่ายเสื้อผ้าก็จะนำเสื้อผ้าที่ปั่นแห้งแล้ว (มีเครื่องซักผ้าอบผ้าในโรงละคอน) มารีดและจัดเตรียมให้พร้อมสำหรับนักแสดง ฝั่งนักแสดงก็จะเข้ามาแต่งหน้าแต่งตัวด้วยตัวเอง ฝ่ายเสียงก็จะเข้ามาเปิดบอร์ดและเช็คลำโพงทุกตัว เช่นเดียวกันฝ่ายแสงที่ไล่เช็คไฟทุกดวง เมื่อพร้อมแล้วนักแสดงที่อยู่ในฉากต่อสู้ก็จะถูกเรียกมาซ้อม Fight Call เสมือนแสดงจริง เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขี้นได้ ส่วนภายนอกโรงละคอนก็จะมี House Manager และ Box Office จัดการความเรียบร้อยโดยประสานงานเข้ามาที่ Stage Manager
Show - เมื่อถึงเวลา SM จะให้สัญญาณผ่าน Headphone ไปยัง House Manager เพื่อเปิดประตูโรงละคอนและให้ Usher จัดการเรื่องที่นั่งคนดู ข้าพเจ้าก็จะส่งสัญญาณนับถอยหลังเข้าไปที่หลังเวทีที่เป็นห้องแต่งตัวว่าอีกกี่นาทีการแสดงจะเริ่มเพื่อเป็นสัญญาณให้นักแสดงและทีมทราบ ทุกอย่างจะดำเนินตามตารางเวลาที่ส่งแจ้งทุกคนทราบผ่าน Daily Call ประจำวันแล้ว ทั้งนี้ ศัพท์ที่น่าสนใจระหว่างการขานคิว ได้แก่

- House to half: คือการหรี่แสงไฟ House ลงครึ่งหนึ่งในเวลาสั้นเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ชมทราบว่าการแสดงกำลังจะเริ่มแล้ว
- Place: คือการประจำที่ก่อนแสดง SM จะถามไปยัง Assistant Stage Manager ว่านักแสดงประจำที่หรือยัง ซึ่ง ASM จะรายงานกลับมา เมื่อประจำที่แล้วจึงเริ่มแสดงได้
- Lighting X / Sound X Go: เป็นการให้สัญญาณผ่าน Intercom ไปยัง Board Operator ซึ่งแยกเป็นแสงคนหนึ่งเสียงคนหนึ่งให้กดปุ่มปล่อยคิวนั้นๆ บางครั้งอาจสั่งสั้นๆว่า Light X Go ก็ได้ (X แทน Number)
- Stand by / Standing: เมื่อมีช่วงที่ว่างระหว่างคิวนานๆ และใกล้จะถึงคิวใหม่ SM จะให้สัญญาณเตรียมพร้อมไปยัง Board Operator เช่น Lighting X Stand by จากนั้น Lighting Operator จะขานรับสั้นๆว่า Standing เพื่อบอกว่าทราบแล้ว

Post-Show Duties - เป็นกระบวนการหลังเสร็จสิ้นการแสดง ฝ่ายชุดก็จะนำชุดไปซัก ฝ่ายฉากก็ทำการจัดการฉากและพร็อพให้พร้อมสำหรับการแสดงวันถัดไป โดย SM จะเป็นคนสุดท้ายที่เดินล็อคประตูทุกห้องและนำ Ghost Light ตั้งขี้น และออกจากโรงละคอนเป็นคนสุดท้าย หลังจากนั้น SM ก็จะส่ง Performance Report คล้ายๆกับฟอร์ม Rehearsal Report ไปยังทีมงานทุกคนเพื่อรายงานว่าการแสดงในวันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง มีปัญหาหรืออุปสรรค์ใดต้องแก้ไขหรือปรับปรุงหรือไม่
เมื่อถึงวันปิดการแสดงตารางงานในส่วนของทีม Run Show จะดำเนินไปอย่างเป็นปกติไม่มีอะไรพิเศษเลย เมื่อจบการแสดงในรอบสุดท้ายทุกคนเก็บสัมภาระส่วนตัวของตัวเองกลับเป็นอันจบ การรื้อถอน (Strike) นั้น เป็นหน้าที่ของทีมงานจาก Scene Shop อีกชุดหนึ่งซึ่งมาเตรียมตัวรอไว้ก่อนแล้ว ต่อเมื่อการแสดงเสร็จสิ้นและผู้ชมกลุ่มสุดท้ายทยอยออกจากโรงละคอนไปแล้ว ทีมงานชุดนี้จะเข้ามารื้นถอนฉากและอุปกรณ์ทุกอย่างทันที โดยทุกคนจะสวมหมวกนิรภัย (Safety Helmet) และแต่งกายมาอย่างเหมาะสมกับสภาพงาน

ในกระบวนการเหล่านี้ มีข้อน่าประทับใจที่ต้องบันทึกไว้ว่า คาถา 3 ข้อ คือ แบ่งงานชัดเจน รับผิดชอบหน้าที่ตนเองอย่างเต็มที่ และไม่ก้าวก่ายหน้าที่ผู้อื่นนั้นยังเป็นจริงเสมอและทำให้งานราบรื่นโดยตลอด เป็นต้นว่า ผู้ควบคุมบอร์ดนั้นมีหน้าที่กดปุ่มตามที่ SM ขานคิวจริงๆ ที่แท้แล้วโรงเรียนจะให้ผู้ออกแบบมาเป็นคนคุมบอร์ดก็ได้แต่ที่ไม่ทำเช่นนั้นเพราะว่าในโลกของการทำงานจริงหน้าที่ของ Designer นั้นจบแล้ว ผู้ที่ควบคุมบอร์ดในการแสดงจริงๆไม่ใช่คนออกแบบ หรือในอีกกรณีหนึ่งมีเหตุสับสนเกี่ยวกับการนำผู้ชมที่มาสายเข้ามาในโรงละคอน เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเข้าแล้ว ข้าพเจ้ายังได้รับข้อความขอโทษจาก House Manager ทันทีในคืนวันนั้นด้วย รายละเอียดเล็กๆน้อยๆนี้ทุกคนปฏิบัติในฐานะที่เป็นมืออาชีพมิได้เอาความเป็นเพื่อนกันส่วนตัวมาละเว้นหรือกลบเกลื่อนปัญหาให้จบสิ้นไป

ท้ายที่สุดเมื่อการแสดงสิ้นสุดแล้ว Production Manager ก็จะจัดประชุมครั้งสุดท้ายเรียกว่า Post Mortem เป็นการสรุปบทเรียนสิ่งใดที่ดีและไม่ดีตลอดจนเปิดโอกาสให้ทุกคนในโปรดักชั่นได้ซักถามเคลียร์ความข้องใจ โดย PM จะบันทึกทุกอย่างไว้เพื่อการปรับปรุงในการทำงานของโรงเรียน

ทั้งหมดนี้เป็นบันทึกประสบการณ์การทำงาน Stage Management ของข้าพเจ้าในบริบทที่ต่างชาติต่างวัฒนธรรม ข้าพเจ้ารู้สึกโชคดีที่ก้าวผ่านความกลัวของตัวเองเพื่อลองผิดลองถูกและผลักตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพการทำงานจริงเพื่อซึมซับเอาประสบการณ์ที่จะหาไม่ได้จากการอ่านหนังสือ หรือการสังเกตจากภายนอก เป็นอันว่าข้าพเจ้าหอบเอาวิชา Stage Managment ออกจากถ้ำเสือมาได้อีกทักษะหนึ่ง เป็นการลงแรงลงใจที่เหนื่อยหนักและคุ้มค่าอย่างยิ่ง จึงขอจบเรื่องการกำกับเวทีนี้ไว้เพียงเท่านี้.
Back to Top