ว่าด้วยเรื่อง Public Arts ที่ Texas Tech University
.
Texas Tech University เป็นหนึ่งในสิบมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกาที่มี Public Arts ใน Campus มากที่สุด โดยมหาวิทยาลัยกำหนดเป็นนโยบายว่าทุกโครงการก่อสร้างที่มีมูลค่าสองล้านเหรียญขึ้นไปนั้นจะต้องแบ่งเงินประมาณ 1% ของมูลค่าการก่อสร้างสำหรับการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ และอีก 1% สำหรับการสร้างงานศิลปะกลางแจ้งประจำอาคารนั้นๆ
.
จำนวน 1% นี้มองดูแล้วอาจจะน้อยมาก แต่เมื่อเปรียบเทียบจากมูลค่าอาคารแต่ละหลังแล้ว ตัวเลขหนึ่งเปอร์เซ็นต์ไม่ใช่จำนวนที่น้อยเลย ทุกๆครั้งที่มีการก่อสร้างอาคารใหม่จะมีคณะกรรมการที่สังกัดหน่วยงาน Public Arts ของมหาวิทยาลัยเข้ามาทำงานร่วมกับคณาจารย์เจ้าของตึกที่กำลังสร้างเหล่านั้นในการรับฟังความต้องการ หรือความคิดเห็นเพื่อกำหนดเป็นโจทย์ในการสร้างสรรค์งานศิลปะกลางแจ้งที่จะประดับหน้าอาคารนั้นๆ เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้วหน่วยงาน Public Arts ก็จะประกาศหลักเกณฑ์การสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้ศิลปินจากทั่วโลกเสนอใบสมัครเข้ามา และคณะกรรมการชุดดังกล่าวก็จะคัดสรรจนเหลือผู้ผ่านเข้ารอบ 4-5 คน เพื่อเชิญให้เข้ามาดูสถานที่จริงที่มหาวิทยาลัยและเสนอโมเดลการออกแบบ ก่อนที่จะมีการพิจารณาตัดสิน และให้สร้างจริงในที่สุด

เมื่อวานข้าพเจ้าและเหล่านักศึกษาวิชา Marketing the Arts ได้ไปเที่ยวนั่งรถชมงานศิลปะกล้างแจ้งรอบมหาวิทยาลัยเหล่านี้เป็นที่สนุกสนานพร้อมอากาศที่ร้อนระอุสุดๆเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน Public Arts ได้พาเราเดินชมพร้อมอัตถาธิบายความพิเศษของชิ้นงานต่างๆ ความยากง่ายในการประกอบตลอดจนการดูแลรักษาอย่างมีอรรถรส งานศิลปะเหล่านี้ไม่ใช่มีเพียงแต่งานปูนปั้นเท่านั้น แต่หลายชิ้นเป็นงานประเภทศิลปะจัดวาง (Installation) ไปพร้อมกันด้วย โดยจะคำนึงถึงสัดส่วนของงานต่อขนาดของตัวตึก ความสอดคล้องกับสาขาวิชาในตึกเรียนนั้นๆ เป็นต้นว่าประติมากรรมคนปลูกต้นไม้เป็นของตึกชีววิทยา ประติมากรรมคนวิ่งประจำตึกนักกีฬาเป็นต้น อาคารโรงละคอนใหม่ของเรากำลังดำเนินการติดตั้งชิ้นงานเป็นรูปม่านละคอนที่จะฉายโปรเจคเตอร์ลงบนผืนผ้าใบในยามค่ำคืนได้ งานบางชิ้นจะมีความพิเศษเช่นต้องกลมกลืนกับต้นไม้โดยรอบ หรือมีการจัดแสงเปลี่ยนสีได้ตามแสงอาทิตย์และแสงไฟในตอนกลางคืน ช่วยให้มหาวิทยาลัยมีความน่าตื่นตาตื่นใจและงดงามขึ้นไม่น้อย

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าผู้บริหารวิทยาลัยไม่เล็งเห็นความสำคัญของงานศิลปะและกำหนดทิศทางการทำงานเป็นนโยบาย และจัดสรรให้มีหน่วยงานทำหน้าที่กำกับดูแลเรื่องเหล่านี้เป็นการเฉพาะ การสร้างพื้นที่ให้กับงานศิลปะจึงไม่ใช่เพียงการต่อสู้ดิ้นรนจากศิลปินกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่ต่อให้ทุ่มเทความพยายามแค่ไหนก็ไม่เพียงพอ หากแต่ต้องอาศัยการสนับสนุนและเอาใจใส่จากผู้ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลด้วย นักบริหารจัดการงานศิลป์ซึ่งได้รับการฝึกฝนทักษะให้เข้าใจทั้งศิลปะและการบริหารจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการกำหนดวิสัยทัศน์ เจรจาต่อรอง และขับเคลื่อนเป้าหมายเหล่านี้ให้สัมฤทธิ์ผลในที่สุด เมื่อเราสามารถทำให้ศิลปะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนได้อย่างกลมกลืมไม่ยัดเยียดแล้ว คนทั่วไปก็จะค่อยซึมซับประโยชน์และกลายเป็นผู้สนับสนุนงานศิลปะในที่สุดอันจะเป็นการสร้างที่ทางทางศิลปะอย่างยั่งยืน
Back to Top