
(1) ว่าด้วยเรื่อง House Management...
.
ปิดเทอมนี้ไปตะลอนที่ไหนไม่ได้จึงมีเวลาทบทวน “สิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบเห็น” มาบันทึกไว้เป็นโน้ตช่วยจำซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆด้วย จึงทยอยแบ่งเอามาลงเป็นหัวข้อๆ พอให้ได้ขบคิดกัน
.
ศัพท์คำว่า “House” ในทางการละคอนหมายถึงพื้นที่ในโรงละคอนที่ไม่ใช่ส่วนของเวทีและด้านหลังเวที พูดให้ง่ายเข้าก็คือ House คือส่วนที่นั่งผู้ชม และส่วนโถงต้อนรับซึ่งถือเป็นประตูด่านแรกเมื่อผู้ชมเดินทางมาถึงโรงละคอน Front-of-House Crews จึงมีบทบาทสำคัญเป็นหน้าเป็นตาให้กับโรงละคอนในการจัดการให้บรรยากาศก่อนการแสดงเป็นไปด้วยความราบรื่นเรียบร้อยซึ่งย่อมจะส่งผลให้เกิดความประทับใจแรกของผู้ชมในการชมการแสดงในรอบนั้นๆ
.
Front-of-House Crews ประกอบด้วย House Supervisor, House Manager, Door Attendants, Tickets Takers, และ Ushers ซึ่งแบ่งหน้าที่การรับผิดชอบดังนี้
.
House Supervisor ทำหน้าที่เป็นเสมือน “พี่เลี้ยง” ของ House Manager เขาจะคอยให้คำปรึกษา ชี้แนะ ให้ความเห็น ตลอดจนตรวจสอบการทำงานต่างๆของ House Manager โดยทั่วไปแล้วโรงละคอนต่างๆไม่มีตำแหน่งนี้ แต่ที่มหาวิทยาลัยข้าพเจ้าเพิ่มตำแหน่งนี้ขึ้นเพื่อให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาซึ่งมีวัยวุฒิและประสบการณ์มากกว่าคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้จัดการ House ซึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี
House Manager คือผู้จัดการความเรียบร้อยของ House ทั้งหมดตัวจริง หน้าที่ของเขาคือการดูแลความเรียบร้อยทั้งหมดตั้งแต่ก้าวแรกที่ผู้ชมย่างเข้าสู่โรงละคอนจนกระทั่งผู้ชมคนสุดท้ายออกจากโรงละคอนไป เขามีหน้าที่แบ่งงานให้กับ Front-of-House Crews ที่เหลือทั้งหมด คอยกำกับดูแล และเป็นคนตัดสินใจรับมือต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าต่างๆซึ่งเกิดขึ้นได้เสมอ
Door Attendants คือพนักงานต้อนรับซึ่งมีหน้าที่เปิดประตูโรงละคอน กล่าวทักทายผู้ชมและแจกสูจิบัตรของการแสดงในคืนนั้นๆ
**Tickets Takers **คือพนักงานตรวจบัตร มีหน้าที่ประจำอยู่ที่ประตูด้านใน คอยนับจำนวนบัตรและส่งผู้ชมต่อไปยัง Ushers
Ushers หรือพนักงานเดินบัตร จะทำหน้าที่นำทางผู้ชมไปยังที่นั่งต่างๆตามที่บัตรระบุไว้
.
หน้าที่ทั้งหมดนี้เมื่ออ่านเผินๆแล้วก็ไม่ใช้ภาระงานที่ยุ่งยากอันใดเลย แต่หน้างานจริงนั้นมีรายละเอียดและเต็มไปด้วยการแก้ปัญหาเฉพาะอย่างยิ่ง ดังจะเชิญให้ท่านทั้งหลายสดับตรับฟังต่อไป
.
เมื่อ Show หนึ่งๆจะเปิดการแสดงขึ้น ทั้ง House Supervisor และ House Manager จะต้องนัดประชุมเตรียมงานกันเสียก่อน ประเด็นของการพูดคุยนั้นจะเป็นการซักซ้อมความเข้าใจพื้นฐานต่างๆในการจัดการ House การจัดเตรียมอุปกรณ์ การแบ่งกำลังคนที่มีให้เหมาะกับงาน และการเตรียมความพร้อมตามความต้องการพิเศษของแต่ละการแสดง เป็นต้นว่า การแสดงบางเรื่องจะเริ่มการแสดงตั้งแต่บริเวณโถงต้อนรับ บางเรื่องอาจขอให้มีการจัดบรรยากาศที่โถงต้อนรับเป็นพิเศษด้วยเฟอร์นิเจอร์ต่างๆที่ Scene Designer เป็นผู้ออกแบบไว้ หรือบางเรื่องอาจขอให้มีการฉายวิดีทัศน์ก่อนการแสดง คิวพิเศษต่างๆเหล่านี้ Stage Manager จะเป็นผู้แจ้งให้ฝ่าย House ทราบ พร้อมทั้งแจ้งเวลาของการแสดงทั้งหมดและเวลาในการพักครึ่งการแสดงด้วย (หากมี) ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ House Manager ต้องนำมาเรียบเรียงวางแผนลำดับก่อน-หลัง เพื่อให้งานออกมาราบรื่น
.
ราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนการแสดง House Manager จะเข้ามาตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆเช่นเก้าอี้ชมการแสดง ความสว่างของโคมไฟส่องทางเดิน หากชำรุดต้องประสานเจ้าหน้าที่โรงละคอนมาซ่อมหรือเปลี่ยน สูจิบัตร แท่นเก็บหางบัตร ฯลฯ ตลอดจนนัดหมาย Front-of-House Crews ที่เหลือมาแบ่งงานและซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆก่อนเปิดการแสดงจริง
.
เมื่อการเตรียมการทุกอย่างเสร็จสิ้น House ก็พร้อมแล้วที่จะต้อนรับและบริการผู้ชมทุกท่าน การทำงานตั้งแต่ก่อนผู้ชมเดินทางมาถึงจนผู้ชมคนสุดท้ายกลับออกไปจะเป็นอย่างไร? หากผู้ชมมาสายต้องทำเช่นไร? หากเจอ Angry Customers จะรับมืออย่างไร? พรุ่งนี้จะมาเล่าต่อครับ

ว่าด้วยเรื่อง House Management (2)...
.
งานของ FOH Crews เริ่มขึ้นราว 2 ชั่วโมงก่อนเวลาแสดง House Manager จะเดินทางมาที่โรงละคอนคนแรกเพื่อเตรียมเอกสารบันทึกการทำงานและเอกสารลงชื่อเข้า-ออกงานสำหรับ Crews ที่เหลือ หลังจากนั้นเขาก็จะเข้าไปด้านในโรงละคอนเพื่อรายงานตัวกับ Stage Manager เพื่อเช็คว่าการแสดงรอบนั้นมีความพร้อมที่จะเปิดการแสดงได้ตรงเวลาหรือไม่ มีข้อกังวัลหรือความล่าช้าใดๆหรือไม่ การสื่อสารระหว่าง House และทีม Stage หลังจากนี้จะติดต่อกันผ่านทาง Wireless Headphone ซึ่ง Sound Engineering ของโรงละคอนปรับช่องสัญญาณเตรียมไว้ให้แล้ว เมื่อ Crews ที่เหลือเดินทางมาตามเวลาที่นัดหมาย ผู้จัดการ House ก็จะมอบหมายให้ Crews สำรวจความเรียบร้อยของส่วนต่างทั่วโรงละคอน เช่น ที่นั่ง และห้องน้ำ เป็นต้น ตลอดจนติดธงดำ-แดง (สีประจำมหาวิทยาลัย) เป็นทิวไปตลอดทางเดินหน้าโรงละคอน การติดธงนี้ข้าพเจ้าเดาเอาว่ามหาวิทยาลัยสืบธรรมเนียมนี้มาจากโรงละคอนของเชคสเปียร์ซึ่งชักธงขึ้นเป็นสัญญาณว่าวันนี้มีการแสดง
.
ได้เคยเล่าค้างไว้ตอนเขียนเรื่อง Box Office ว่าจะเก็บเรื่องบัตร Rush Ticket และ Waiting List มาเล่าในเรื่อง House Managment ก็จะถือโอกาสแทรกไว้ตรงนี้เสียเลย เมื่อผู้ชมเดินทางมาถึงโรงละคอนแล้วสิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือการรับบัตรเข้าชมการแสดงที่ Box Office ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ 2 คนจะประจำอยู่ที่เคาเตอร์ คนแรกมีหน้าที่บริการผู้ชมที่จองบัตรมาล่วงหน้าและต้องการมารับบัตรที่จองไว้ ก็จะเข้ามาในแถวที่ชื่อว่า “Will Call” ซึ่งข้าพเจ้าจะขอแปลเป็นไทยว่า “เผื่อเรียก” บัตรชนิดนี้เมื่อถูกจองมาก่อนแล้วจะทางโทรศัพท์หรือทางเว็บไซต์ก็ดี เจ้าหน้าที่จะจัดการพิมพ์บัตรและเก็บใส่ซองจดหมายลงในกล่องเผื่อเรียกเรียงตามลำดับอักษร เมื่อผู้ชมมาถึงก็แจ้งชื่อและรับบัตรได้ทันที ส่วนพนักงานคนสองนั้นมีหน้าที่บริการผู้ชมแบบ Walk in และจัดการกับบัตรแบบ Rush Ticket และ Waiting List กล่าวคือทุกๆรอบการแสดงโรงเรียนจะสำรองที่นั่งฟรีสำหรับนักศึกษาไว้จำนวน 20 ใบเรียกว่า “Rush Ticket” หรือ “Student Rush” โดยจะแจก 1 ชั่วโมงก่อนการแสดง นักศึกษาคนใดอยากชมละคอนแต่ไม่อยากเสียเงินซื้อบัตรนักศึกษาก็มาต่อแถวรับบัตร Rush Ticket นี้ได้ฟรีในระบบ First come, first served เมื่อบัตร 20 ใบนี้ถูกแจกจนหมดนักศึกษาลำดับที่ 21 เป็นต้นไปก็จะลงชื่อไว้ในรายชื่อ Waiting List ซึ่งจะเล่าต่อไป
.
อนึ่ง Rush Ticket ในโรงละคอนอื่นจะมีความหมายแตกต่างไปเล็กน้อย เช่น โรงละคอนบรอดเวย์ทั้งหลายจะมีบัตรประเภทนี้มาขายทุกเช้าในราคาถูก โดยจะเป็นการเทขายตั๋วที่เหลือ ตั๋วคืน หรือตั๋วในที่นั่งที่เห็นการแสดงไม่ครบทุกส่วน เพราะมีเสามาบังหรืออยู่ริมสุด (Partial View Seating) ตั๋วประเภทนี้จะขายเฉพาะรอบการแสดงในคืนนั้นเลยจะซื้อล่วงหน้าไม่ได้ สมัยที่ข้าพเจ้าอยู่นิวยอร์กก็จะตื่นแต่เช้าไปรอจองตั๋วถูกพวกนี้เพื่อประหยัดเงิน
.
กลับมาที่งานของ FOH Crews อีกครั้ง ราว 15-30 นาทีก่อนการแสดง Stage Manager จะให้สัญญาณพร้อมเปิดโรงละคอนมายัง House Manager เมื่อได้สัญญาณนี้ House Manager ก็จะประกาศให้ผู้ชมเข้าสู่โรงละคอนได้ การแสดงส่วนใหญ่ที่โรงเรียนจำหน่ายบัตรแบบไม่ระบุที่นั่ง หรือเรียกอีกชื่อว่า “บัตรผ่านประตู” (General Admission) กระบวนการก็จะซับซ้อนน้อยกว่าบัตรแบบระบุที่นั่งเล็กน้อย เมื่อผู้ชมที่ถือบัตรทั้งหมดเข้าสู่โรงละคอนเรียบร้อย พนักงาน Box Office จะเริ่มนับบัตรที่เหลือในกล่องเผื่อเรียกว่ามีจำนวนเท่าใด ในขณะเดียวกัน Ushers ก็จะนับที่นั่งว่างในโรงละคอนเช่นกัน ตัวเลขที่นั่งว่างกับบัตรที่ไม่มีคนมารับนั้นจะใกล้เคียงกัน สมมติว่ามีจำนวน 15 ที่นั่ง House Manager จะตัดสินใจปล่อยที่นั่งว่างจำนวนหนึ่งก่อน เช่น 10 ที่นั่งให้กับ Waiting List หมายเลขที่ 21 ขึ้นไป โดยจะเรียกทีละชื่อในเวลา 5 นาทีก่อนการแสดง หากเรียกแล้วเจ้าของชื่อไม่ปรากฎตัวในโรงละคอนก็จะข้ามเรียกชื่อต่อไปทันที ครั้นเมื่อใกล้เวลาที่ Stage Manager ให้สัญญาณปิดประตูโรงละคอนเพื่อเริ่มแสดงแล้ว ที่นั่งที่เหลือทั้งหมดก็จะถูกยกให้ Waiting List ลำดับถัดไปจนหมด และเมื่อปิดประตูโรงละคอนแล้วก็จะไม่อนุญาตให้ผู้มาสายเข้าจนกว่าจะพักครึ่งการแสดง (แต่ละโรงละคอนอาจมี Late Arrival Policy ต่างกัน)
.
ถามว่าวางขั้นตอนไว้แน่นหนาเช่นนี้หน้างานจริงมีปัญหาหรือไม่? คำตอบคือ มีแน่นอน แต่โรงละคอนจะมีแผนสำรองไว้อีกชั้นหนึ่งเสมอ เช่นว่าโรงละคอนจะ Hold ที่นั่งจำนวน 5 ที่นั่งไว้เสมอ ไม่ขาย ไม่ว่าการแสดงนั้นจะขายหมดทุกรอบทุกที่นั่ง ที่นั่งที่ Hold ไว้นี้จะเผื่อไว้สำหรับแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเช่นการสับสนเรื่องจำนวนบัตร หรือการมาถึงของแขก VVIP ที่โรงละคอนไม่อาจปฏิเสธได้ นอกจากนี้โรงละคอนยังมีการทำ Handbook เป็นคู่มือเพื่อชี้แจงขั้นตอนการทำงาน และแผนรับมือต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่น อัคคีภัย วาตภัย ไฟดับ การยกเลิกการแสดง การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการรับมือกับ Aggressive/Hostile Patron
.
งานของ FOH ไม่ได้จบลงแค่นี้ เมื่อการแสดงเริ่มแล้ว Door Attendants ก็จะนับหางบัตรและคัดแยกประเภทของบัตร เพื่อแจ้งยอดให้ House Manager บันทึกว่าในรอบการแสดงนั้นมีผู้ชมประเภทใด จำนวนเท่าไหร่บ้าง ตลอดจน Crews อื่นก็มีหน้าที่ทำความสะอาดห้องน้ำและโถงของโรงละคอนเพื่อเตรียมบริการผู้ชมในช่วงพักครึ่งการแสดง และหลังจบการแสดงไปแล้วก็จะต้องเดินตรวจสอบทุกแถวที่นั่งเพื่อทำความสะอาดและตรวจสอบว่ามีผู้ชมลืมสัมภาระใดๆไว้ที่ที่นั่งหรือไม่ เมื่อผู้ชมคนสุดท้ายออกจากโรงละคอนไปแล้ว House Manager ก็จะบันทึกเหตุการณ์ประจำวันและปัญหาที่พบลงไปในแบบฟอร์มทุกวัน หากปัญหานั้นมีขนาดใหญ่หรือต้องการการแก้ไขทันทีก็จะส่งเข้าไปใน Performance Report ซึ่ง Stage Manager จะส่งเป็นจดหมายเวียนทุกคืนถึงทีมงานทุกฝ่าย
.
ข้าพเจ้าเคยเจอ Angry Customer ซึ่งมาสายและหัวเสียเนื่องจากเข้าโรงละคอนไม่ได้อยู่ 2 เคส เคยเจอผู้เข้าชมคุกเข่าขอซื้อบัตรในการแสดงรอบสุดท้ายที่ Sold Out ทุกที่นั่งอยู่ 1 เคส ก็ทำได้เพียงเอาความสุภาพอ่อนโยนเป็นน้ำเย็นเข้าสู้ และใช้ปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจนพอจะเอาตัวรอดมาได้
.
การทำงาน House Management จะว่าเป็นงานง่ายที่ใช้เพียง Common Sense ก็ถูกส่วนหนึ่ง จะว่าเป็นงานจัดการที่ต้องประสานงานกับผู้คนจำนวนมากก็ถูกอีกส่วนหนึ่ง การวางแนวปฏิบัติให้ชัดเจน การจัดลำดับความสำคัญ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นคุณลักษณะจำเป็นที่จะช่วยให้การทำงาน House Managment เป็นไปด้วยความราบรื่นมีประสิทธิภาพและสร้างประสบการณ์อันน่าประทับใจให้กับผู้ชมได้อย่างสมบูรณ์
.
จึงขอจบเรื่อง House Management แต่เพียงเท่านี้.