
(1) ว่าด้วย Costume Supervisor และ Costume Shop...
Company Manager, Technical Director, และ Stage Manager ไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่เดียวกันฉันใด นักศึกษา Arts Administration เช่นข้าพเจ้าก็แทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Costume Shop ฉันนั้น เหตุก็เพราะว่าไม่ได้รับมอบหมายให้ทำงานในด้านนั้นโดยตรง กับทั้งห้องปฏิบัติการเครื่องแต่งกายนั้นแยกออกจากอาคารโรงละคอนออกไปอยู่อีกอาคารหนึ่งเป็นเอกเทศ (ชั่วคราวระหว่างรอต่อเติมโรงละคอนเฟส 2) ทำให้ข้าพเจ้าไม่เคยไปเยือน costume shop เลย อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าได้เอ่ยปากกับเพื่อนสนิทในสาย Costume Design ว่าข้าพเจ้าใคร่จะเห็นการสร้างเครื่องแต่งกายที่นี่และต้องการให้เธอพาข้าพเจ้าทัวร์ห้องปฏิบัติการเพื่อบันทึกประสบการณ์นั้นๆด้วยตาเนื้อ มิใช่เพียงอ่านเอาเพียงในตำรา ประเหมาะเคราะห์ดีในบ่ายวันหนึ่งเมื่อหลายสัปดาห์ที่แล้วเราจึงนัดกันที่ Costume Shop เพื่อให้เธอนำข้าพเจ้าชมการทำงานในส่วนต่างๆ
งานเขียนชิ้นนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ตอน แบบกระทัดรัด หวังให้อ่านกันเอาพลินกับประสบการณ์การเยี่ยมชม Costume shop ของข้าพเจ้า โดยตอนแรกจะเล่าเรื่องกระบวนการออกแบบเครื่องแต่งกายตั้งแต่เริ่มต้นจนเปิดการแสดง และตอนที่สองจะเล่าถึงการจัดการ Costume Shop อนึ่ง ข้าพเจ้าบันทึกตามความทรงจำอย่างผู้ไม่สันทัดโดยตรงในเรื่องการออกแบบเครื่องแต่งกาย ผิดพลาดประการใดโปรดชี้แนะแก้ไข และหวังว่าท่านจะได้รับประโยชน์ตามสมควร
บ่ายวันนั้นข้าพเจ้าปรากฎตัวที่ Costume Shop ตามนัดหมาย เพื่อนข้าพเจ้าและนักศึกษาอีกสองสามคนกำลังง่วนอยู่กับงานตรงหน้า ข้าพเจ้าลากเก้าอี้มานั่งข้างโต๊ะทำงานของเธอและขอให้เธอเล่าเรื่องการออกแบบเครื่องแต่งกายเป็นลำดับตั้งแต่ต้นจนจบแม้มือของเธอจะมิได้ว่างเว้นกับงานตรงหน้าเลยก็ตาม ข้าพเจ้าจะสรุปบทสนทนาของเราเป็นลำดับ ดังนี้
การฟอร์มทีม - ได้เคยเล่าแล้วว่าละคอนในมหาวิทยาลัยที่นี่ทำงานกันเป็น Season (6-8 เรื่องต่อปี) โดยมีคณะกรรมการคัดสรรการแสดงพิจารณาบทละคอนชิ้นต่างๆมานำเสนอเป็น Season เมื่อรายชื่อนี้ออกแล้ว Production Manager ก็จะทำแผนงานตลอดทั้งปีหน้าออกมาและเริ่มเฟ้นหาคนมาทำงานในตำแหน่งต่างๆ Costume Designer แต่ละคนจะได้รับมอบหมายให้ทำงานในแต่ละ Production เป็นการเฉพาะเทอมละอย่างน้อย 1 เรื่อง
จากบทสู่ร่างแรก - เมื่อรับมอบหมายงานแล้ว แต่ละโปรดักชั่นก็จะเริ่มอ่านบทและมีการประชุมแยกไปตามการแสดงของตน (ขั้นตอนนี้ทุกท่านทราบดีอยู่แล้ว ข้าพเจ้าขอไม่ลงรายละเอียด) สิ่งที่ควรบันทึกก็คือ Costume Designer จะเริ่มทำตารางขึ้นมาเพื่อบันทึกว่าในการแสดงนั้นๆมีนักแสดงกี่คน แต่ละคนปรากฎกายบนเวทีกี่ “Look” และในแต่ละ look นั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง เช่น เสื้อ กางเกง เสื้อนอก ฯลฯ ตรงนี้เธออรรถาธิบายคำว่า Costume ให้ข้าพเจ้าฟังได้อย่างน่าประทับใจว่า “Costume คืออะไรก็ตามที่อยู่บนตัวของนักแสดง” ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น วิกผม หมวก รองเท้า แหวน กำไล กระเป๋าถือ จำพวกนี้ก็อยู่ในความรับผิดชอบของเธอทั้งหมด ข้าพเจ้าลองดีถามเธอว่าแล้วไม้เท้าล่ะ? เธอตอบว่าถ้ามันปรากฎในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของชุดนั่นก็เป็นงานของเธอ แต่ถ้าบทบ่งว่าเป็นอุปกรณ์ที่ตัวละคอนหยิบจับเพื่อทำอะไรบางอย่างนั่นเป็นหน้าที่ของ Prop Master ตารางนี้จะช่วยเตือนไม่ให้เธอหลงลืมอะไรในระหว่างการออกแบบ และช่วยเตรียมเธอล่วงหน้าสำหรับบางชุดที่ต้องมีเทคนิคพิเศษ หรือ Quick Change หลังจากนี้เธอจะเริ่มร่างแบบและแก้ไขตามความเห็นผู้กำกับและทีมซึ่งมีประชุมทุกสัปดาห์ แบบร่างนี้ก็จะถูกปรับให้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆด้วยการลงสี และแนบตัวอย่างผ้าลงไปในแบบด้วย
การสร้างเครื่องแต่งกาย - เมื่อจะลงมือสร้างชุดขึ้นมาจริงๆ งานเหล่านี้ก็จะโอนย้ายมาอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ Costume Supervisor ซึ่งทำหน้าที่วางแผนทำให้แบบนั้นๆเป็นชุดจริงขึ้นมา CS จะต้องประเมินว่าภายใต้งบประมาณที่มีจำกัดเธอจะเนรมิตชุดเหล่านี้ขึ้นมาอย่างไร ซึ่งก็จะเป็นไปได้ 2 ทาง คือ 1) ตัดใหม่ทั้งหมด เรียกว่า “Build” 2) ซื้อสำเร็จ เช่า ดึงออกมาจากชุดที่คณะละคอนมีอยู่แล้ว เรียกว่า “Pull” โดยทางที่สองนี้ต้องมี Drapers เป็นช่างเย็บแก้ให้เสื้อผ้าเข้ารูปกับนักแสดง
- CS จะแจ้งไปที่ Stage Manager ให้จัดเวลาสำหรับนักแสดงแต่ละคนมาวัดตัวที่ห้อง Costume การวัดตัวจะมีแบบฟอร์มเฉพาะเป็นมาตรฐานของโรงเรียนและ Costume Shop ก็จะเก็บข้อมูลเหล่านี้ไว้ในแฟ้มเฉพาะลำดับชื่อตามตัวอักษร
- เมื่อได้สัดส่วนแล้ว CS ก็ดำเนินการแบ่งงานให้นักศึกษาซึ่งเข้าออกงานเป็นเวลามาทำการตัดเย็บแก้ไขชุดต่างๆ กระบวนการตัดเย็บนี้มีรายละเอียดซึ่งลึกเกินกว่าการเข้าใจของข้าพเจ้าเป็นต้นว่า ตั้งแต่การตัดแพทเทิร์น นำแพทเทิร์นมาขึ้นเป็นชุดด้วยผ้าดิบ ก่อนจะตัดออกแบบด้วยผ้าจริง ชุดบางชุดเมื่อตัดแล้วก็ต้องนำมาประดับ ย้อมสี ทำให้ดูเก่า ทำให้ขาด อะไรอีกต่างๆ
- เมื่อสร้างขึ้นมาเป็นชุดแล้ว ชุดต่างๆเหล่านี้จะถูกนำไปแขวนในราวหนึ่งรวมกันไว้ แต่มีการคัดแยกอย่างชัดเจนด้วยป้ายที่ระบุชื่อนักแสดง บทบาทที่เขาได้รับ และบางครั้งก็มีหน้านักแสดงนั้นๆด้วย ในแต่ละ Section ก็จะมีลำดับของ Look ก่อนหลังตามลำดับในการแสดง ราวแขวนเสื้อนี้จะมี Ditty Bag ซึ่งเป็นถุงที่มีกระเป๋าหลายๆช่องคล้องไว้กับไม้แขวนเพื่อใส่เครื่องประดับกระจุกกระจิกที่จะมาพร้อมกับชุดเครื่องแต่งกายนั้นๆ เป็นต้นว่า ต่างหู แหวน นาฬิกา ตัวละคอนแต่ละตัวจะมี Ditty Bag เป็นของตัวเอง ด้านบนและด้านล่างของราวแขวนมีลักษณะเป็นถาดขนาดยาวขนานไปตลอดราวแขวนสำหรับวางหมวกและรองเท้า และแน่นอนว่าราวแขวนนั้นมีล้อเลื่อนได้
- เมื่อชุดสร้างเสร็จแล้ว CS ก็จะแจ้งไปที่ SM ให้แจ้งนักแสดงมาลองชุดและแก้ไขให้เข้ารูปต่อไป
วันแสดงจริง - CS จะขนชุดทั้งหมดไปที่ห้องแต่งตัวซึ่งแยกหญิงชาย ห้องแต่งตัวนี้แยกออกไม่ปะปนกับห้องแต่งหน้า เมื่อนักแสดงแต่งหน้าด้วยตัวเองเสร็จแล้วก็จะย้ายมาที่ห้องแต่งตัวซึ่งจะมี Dressers เป็น Costume Crews มาช่วยนักแสดงแต่งตัวและเปลี่ยนชุด Costume Designer ต้องทำตารางรายงาน SM ว่าใน Show มีลำดับการเปลี่ยนชุดอย่างไร กี่ชุด และในห้องแต่งตัวเองก็จะตาราง Checklist ซึ่ง Dressers ต้องบันทึกทุกครั้งที่นักแสดงเปลี่ยนชุดว่านักแสดงเปลี่ยนครบหรือไม่ และเมื่อสิ้นสุดการแสดงแต่ละวัน crews จะนำชุดไปซักและปั่นให้แห้งและรีดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแสดงในวันถัดไป ถ้าชุดชำรุดก็มีหน้าที่ต้องซ่อมแซม จนกระทั่งวันสุดท้าย ชุดทั้งหมดจึงจะถูกนำไปเก็บใน Shop
เอกสารต่างๆตั้งแต่แบบร่างไปจนถึงรูปถ่ายนักแสดงที่สวมชุดจริงขณะแสดงจะถูกรวบรวมไว้เป็นแฟ้มสันห่วงโดย Costume Designer หรือ CS เรียกว่า “Costume Bible” สำหรับใช้อ้างอิงในการ Restage ในอนาคต ทั้งหมดนี้เป็นบทสนทนาช่วงแรกของการเยือน Costume Shop ของข้าพเจ้า เมื่อมาถึงจุดนี้บทสนทนาของเราก็ออกรสจน Costume Supervisor ลากเก้าอี้มาร่วมแจมด้วย ข้าพเจ้าจึงถือโอกาสให้เธอเดินนำชมส่วนต่างๆของ Costume Shop ตั้งแต่ห้องลองชุด ห้องตัดเย็บ ไปจนถึงห้องเก็บเครื่องแต่งกาย ซึ่งจะเก็บไว้เล่าต่อในวันพรุ่งนี้ครับ

(2) ว่าด้วย Costume Supervisor และ Costume Shop...
ข้าพเจ้าได้ขอให้ Costume Supervisor นำชมส่วนต่างๆของ Costume Shop และถามเธอด้วยคำถามจุกจิกนานาประการซึ่งผุดขึ้นในความคิดระหว่างการนำชมห้องปฏิบัติการสร้างเครื่องแต่งกาย ดังจะขอสรุปประเด็นเป็นข้อๆให้ท่านได้นึกภาพตามประหนึ่งร่วมทอดทัศนาไปกับข้าพเจ้าด้วย
โต๊ะอเนกประสงค์ - เมื่อเปิดประตูเข้ามาในห้อง Costume Shop นี้ สิ่งแรกที่ท่านจะเห็นก็คือโต๊ะเอนกประสงค์ขนาดยาวพร้อมเก้าอี้ และล้อมรอบด้วยกระดานและแบบดราฟชุดที่กำลังตัดอยู่ ข้าพเจ้าให้ชื่อว่าอเนกประสงค์เพราะพื้นที่ตรงนี้ใช้ในการเรียนการสอน ประชุม และนั่งทำงานได้ด้วย
ห้องลองชุด - เราเดินต่อไปยังห้องลองชุดมีขนาดกว้างพอจะจุคนได้สบายๆสัก 3 คน CS อธิบายว่าสิ่งที่จำเป็นจริงสำหรับห้องลองชุดก็คือกระจกกับเก้าอี้ โดยกระจกจะเป็นกระจกสามด้านสูงเท่าตัวคน และมีทั้งเก้าอี้เตี้ยและเก้าอี้สูงสำหรับให้นักแสดงยืนหรือนั่งเวลาที่ Costume crews ทำงานกับตัวนักแสดง นอกจากนี้ในห้องหรือส่วนที่ใกล้กับห้องก็จะมีรองเท้า ถุงเท้า เข็มขัด หลายๆแบบสำหรับหยิบฉวยมาลองประกอบกับชุดได้ทันทีเวลาทำงาน กับทั้งจะมีตัวอย่างสีผมสีต่างๆห้อยไว้สำหรับ Designer จะหยิบมาทาบกับนักแสดงและชุดได้ทุกเมื่อในกรณีที่ต้องเปลี่ยนสีผม ในการลองชุดนี้ CS จะมี Costume Kit เป็นอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับทำงานอยู่ด้วยเสมอ ห้องลองชุดลักษณะนี้มีอยู่ราวๆ 3 ห้อง
ชั้นเก็บของ - ตลอดแนวกำแพงหรือที่ใดๆซึ่งพอจะจัดสรรให้วางของได้ก็จะมีชั้นเก็บของต่างๆวางเรียงอยู่ทั่วทุกที่ (เข้าใจว่าของทุกอย่างจะถูกจัดเก็บเป็นระเบียบมากขึ้นเมื่อเฟส 2 เสร็จแล้ว) CS ได้อนุญาตให้ข้าพเจ้าเปิดดูว่าแต่ละชั้นเก็บอะไรอย่างไร เป็นต้นว่า ตู้ลิ้นชักขนาดใหญ่หลังหนึ่งใช้เก็บแพทเทิร์นต่างๆไล่เลี่ยงตามยุคสมัย ผ้าเช็ดหน้า ถุงมือ สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ก็จะถูกจัดแบ่งตามแบบตามสีไล่เลียงกันไปซึ่งมีเก็บไว้มากเหลือประมาณ CS แนะนำว่าควรเก็บไว้ในกล่องใสเพื่อสะดวกในการมองทะลุเข้าไปเห็นของข้างในได้ก่อนที่จะต้องรื้อทุกกล่องลงมาเพื่อหาของ
ตู้เครื่องประดับ - ใช่เพียงแต่เสื้อผ้า เครื่องประดับต่างๆทั้งกำไล สร้อย แหวน ลูกปัด เข็มกลัดก็มีตู้เก็บเฉพาะจัดเป็นหมวดเป็นหมู่ไว้ ให้ได้หยิบมาใช้สอย
Stock - ว่าแล้วเธอก็เดินนำข้าพเจ้าเข้าไปใน Stock Costume ซึ่งทำเป็นราวแขวนสองชั้นเพื่อประหยัดพื้นที่ ทุกๆราวอัดแน่นไปด้วยเสื้อผ้าหลายชนิด ข้าพเจ้าถามเธอว่ามีหลักในการเก็บอย่างไร? เธอตอบว่าเสื้อผ้าเหล่านี้จะแยกเก็บตามหลักคือ เพศ > ประเภท > สี > ไซส์ กล่าวคือ เสื้อนอก, เสื้อเชิ้ต, ชุดราตรี ฯลฯ ก็จะเก็บแยกกันและแบ่งซอยลงตามสีและไซส์ ชุดสำหรับใช้ซ้อมนั้นจะแขวนแยกไว้ต่างๆหากเป็นจำพวกชุดที่ส่งให้นักแสดงใช้ระหว่างที่ซ้อม ชุดเหล่านี้นักแสดงจะปู้ยี่ปู้ยำอย่างไรก็ไม่ว่ากัน แต่ชุดที่เก็บนั้นต้องเก็บรักษาไว้อย่างดี
ตู้กันไฟ - ในบรรดาตู้ต่างๆจะมีตู้หนึ่งโดดเด่นสะดุดตากว่าตู้อื่นและติดป้ายชัดเจนว่าเป็นตู้กันไฟ ข้าพเจ้าขอเปิดดูว่าตู้นี้ใช้เก็บอะไรบ้างก็พบว่าส่วนใหญ่เก็บสเปรย์และกาวต่างๆซึ่งเป็นวัตถุไวไฟ หากเกิดเพลิงไหม้ตู้นี้จะช่วยกันหรือถ่วงเวลาให้ผู้ปฏิบัติงานออกจากสถานที่ก่อนที่อุปกรณ์เหล่านี้จะระเบิดเป็นอันตรายได้
ห้องซักล้าง และ Dye room - ตามชื่อเลยครับห้องซักล้างเป็นห้องสำหรับติดตั้งเครื่องซักผ้าและเครื่องปั่นผ้า CS แนะนำว่าควรมีอย่างละอย่างน้อยสองเครื่องเพื่อใช้งานพร้อมกันได้ในกรณีต้องการใช้งานเร่งด่วน ในห้องนี้จะมีซิงค์สำหรับใช้พ่นสี หรือย้อมสีผ้าด้วย เรียกว่าเป็นห้องที่พร้อมเลอะได้ถ้าจำเป็น
ส่วนตัดเย็บ - และแล้วก็มาถึงส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือส่วนตัดเย็บ ซึ่งจะแบ่งออกเป็นส่วนทำแพทเทิร์นซึ่งเป็นโต๊ะขนาดยาว และมีแผ่นยืนสำหรับคนทำงานด้วย ข้าพเจ้าถามว่าแผ่นยืนนี้สำคัญอย่างไร? เขาตอบว่ามันจะช่วยรักษาสมดุลและบรรเทาอาการปวดหลังจากการยืนทำงานนานๆบนพื้นแข็ง ถัดจากโต๊ะนี้ก็จะมีเครื่องจักรเย็บผ้าต่างๆ หุ่นหลายๆขนาด เตารีดอุตสาหกรรมที่ร้อนพร้อมใช้งานตลอดเวลา มุมหนึ่งก็จะเป็นชั้นซึ่งเก็บผ้าพับ ผ้าม้วนหลายแบบหลายสี และตู้เก็บด้าย กระดุม ตะเข็บ ซิบ สิ่งละอันพันละน้อยทุกแบบทุกแนว
เมื่อโรงละคอนของเราไม่ได้ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ซึ่งจะมีตลาดค้าผ้าอย่าง “สำเพ็ง” บ้านเราซึ่งจะไปเลือกเอาผ้าแบบไหนก็ได้ง่ายๆ ข้าพเจ้าจึงถาม CS ว่า เธอมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการตัดสินใจเก็บหรือทิ้งอะไร? เพราะในความเป็นจริงเราไม่สามารถเก็บอะไรไว้ได้ทั้งหมด เธอตอบว่าชุดบางชุดเก่ามาก Oversize ถ้าเก็บไว้ไม่ได้ใช้แน่ๆ ก็จะคัดไว้สำหรับบริจาคหรือทิ้ง ผ้าทั้งหลายนั้นจะใช้ซ้ำ เศษผ้าต่างๆเมื่อตัดแล้วจะแยกไว้กล่องหนึ่งเพื่อนำมาทำเป็นอย่างอื่นได้อีก ใช้ซ้ำๆเช่นนี้จนเศษผ้ากลายเป็นเศษเล็กเศษน้อยที่เอาไปทำอะไรไม่ได้แล้วนั่นจึงทิ้ง ส่วนการซื้อของเข้า Stock ไว้นั้น เธออธิบายว่า Costume Shop จะได้งบเป็น 2 ส่วนคือ งบของ Shop เอง และงบ Production ซึ่งเธอจะพิจารณา Stock ของตามความเหมาะสม ถ้าประเหมาะเคราะห์ดีเจอของที่ขายผ่านเว็บต่างๆในราคาเหมาะสมและคิดว่าจะได้ใช้ในอนาคตเธอก็จะ Stock ไว้ ทั้งนี้เธอมีหน้าที่รับผิดชอบถือบัตรเครดิตของฝ่าย Costume และสามารถนำใบเสร็จต่างๆไปตั้งเบิกได้เป็นรายสัปดาห์กับเจ้าหน้าที่การเงินของสาขา
การจัดการ Costume Shop และบทบาท Costume Supervisor นี้ มีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก การบริหารจัดการต้องใช้ทั้งทักษะและประสบการณ์ซึ่งไม่มีตำราตายตัวแต่ก็ใช่ว่าไม่มีหลักเกณฑ์เอาเสียเลย ข้าพเจ้าใช้เวลาหลายชั่วโมงในบ่ายวันนั้นสำรวจและตั้งคำถามต่างๆด้วยมุมมองของคนนอกที่คิดว่าควรจะเรียนรู้ไว้ไม่เสียหาย แต่ถ้าจะให้ลงลึกไปยิ่งกว่านี้ก็เห็นว่าเกินกำลังความสนใจของข้าพเจ้าไปสักหน่อย จึงขอจบเรื่อง Costume Shop และ Costume Supervisor ไว้แต่เพียงเท่านี้.