หายจากโลกออนไลน์ไปหลายวันเพื่อ Brush up ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์การละคอนครับ ผมเลือกหนังสือเล่มหนึ่งที่ค่อนข้างหนาจึงต้องใช้สมาธิจดจ่อมากพอควร เมื่ออ่านแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ จึงขอมาแนะนำหนังสือ “Living Theatre” ของ Edwin Wilson และ Alvin Goldfarb ครับ
.
การศึกษาด้านการละคอนในประเทศไทยเป็นไปในวงจำกัดมาก ส่วนหนึ่งเพราะมีการพิมพ์ตำราน้อย ว่ากันเฉพาะ Theatre History แล้วมีผู้แต่งเป็นภาษาไทยชนิดนับเล่มได้ และไม่มีเล่มใดเลยที่ฉายภาพประวัติศาสตร์การละคอนต่อเนื่องยาวตลอดตั้งแต่ยุค Greek จนถึงการละคอนร่วมสมัย นักศึกษาจึงต้องอาศัยวิธีเก็บเล็กผสมน้อยปะติดปะต่อกันเองจนเกิดเป็นความเข้าใจหนึ่งๆ กระนั้นภาพก็ยังไม่กระจ่างชัด ผมเองก็เป็นหนึ่งในบรรดานักศึกษากลุ่มนี้ ดังนั้น วิธีที่จะคลายความสงสัยได้ดีก็คือการอ่านจากตำราภาษาอังกฤษที่เรียบเรียงไว้สมบูรณ์แล้วไม่ใช่เพราะบ้าฝรั่ง แต่การอ่านตำราภาษาอังกฤษโดยตรงทำให้เข้าถึงข้อมูลชั้นต้นได้ดีกว่าโดยไม่ผ่านแว่นตาของการตีความของผู้แต่งตำราไทย ที่พูดเช่นนี้ไม่มีเจตนาไม่ดีต่อผู้แต่งตำราไทยเลย คุณูปการของท่านทั้งหลายนี้เป็นรากฐานสำคัญให้ผมอ่านตำราฝรั่งได้ต่อเนื่องโดยตลอดเพราะมีพื้นฐานความเข้าใจจากภาษาแม่ที่ดี
.
เหตุใดนักศึกษาการละคอนควรใส่ใจเรื่อง Theatre History ครับ? เหตุผลส่วนตัวของผมซึ่งได้ใช้กับตัวเองและบอกกับนักศึกษาที่สอนเสมอก็คือว่า Theatre History ก็เป็นเหมือนกับตู้ลิ้นชักใบหนึ่งที่แต่ละชั้นติดป้ายยุคสมัยต่างๆเอาไว้ เช่น Greek, Roman, Medieval, และอื่นๆ ยิ่งเราเข้าใจบริบทและคุณลักษณะของแต่ละยุคสมัยได้ชัด เราก็จะสามารถนำความรู้ใหม่ที่เราได้รับจากที่ต่างๆมาจัดเรียงเข้าในลิ้นชักแต่ละชั้นได้ตรงตามยุคสมัยและเห็นความเชื่อมโยงกันได้ดี พูดอีกนัยหนึ่งก็คือการเข้าใจ Theatre History ช่วยให้เราลำดับความคิด และความรู้ใหม่ได้เป็นระบบ ไม่สับสน และแจ่มแจ้งยิ่งขี้น เมื่อทราบเหตุผลที่ควรอ่าน Theatre History แล้ว ต่อไปนี้เป็น 5 ข้อ ว่าทำไม่ต้องอ่าน “Living Theatre” เล่มนี้ครับ
.
1.เรียงลำดับเนื้อหาได้ดี: ประวัติศาสตร์นิพนธ์นั้นมีวิธีการเล่าได้หลายแบบ ผู้แต่งหนังสือนี้เลือกเล่าตามลำดับเวลา (Chronological Order) โดยแบ่งชื่อยุคสมัยต่างๆตรงกับตำราในเมืองไทย ทำให้นักศึกษาไทยอ่านแล้วโยงความเข้าใจเดิมที่มีกับตำราเล่มนี้ทำให้ภาพกระจ่างชัดยิ่งขึ้น
.
2.ให้บริบททางประวัติศาสตร์: เราทราบกันดีว่าการละคอนไม่ใช่ศาสตร์ที่โดดเดี่ยว โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การละคอนด้วยแล้วจะศึกษาแยกเป็นเอกเทศไม่ได้ ผู้ศึกษาต้องเข้าใจบริบทแวดล้อมทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และแม้กระทั่งศิลปะที่ร่วมยุคนั้นๆด้วยจึงจะเข้าใจเหตุและผลได้แตกฉาน ดังนั้นในช่วงต้นของแต่ละบทผู้แต่งจะอรรถาธิบายประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคโดยสังเขปเป็นเครื่องกรุยทางความเข้าใจของผู้อ่านไว้ก่อน พร้อมทั้งมีแผนที่ทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งของเมืองต่างๆในยุคนั้นๆทำให้เราจินตนาการถึงการเคลื่อนย้ายถ่ายเทของกระแสธารศิลป์จากที่หนึ่งไปที่หนึ่งได้ดียิ่งขึ้น เท่านั้นยังไม่พอผู้แต่งยังทำแผนภาพ Timeline ของเหตุการณ์สำคัญๆของวงการละคอนในแต่ละยุคเทียบขนานไปกับเหตุการณ์สำคัญของทางสังคมและการเมืองของยุคนั้นๆด้วย
.
3.นำเสนอทฤษฎีแย้ง: แทนที่ผู้แต่งจะหลับหูหลับตาเขียนแต่ทฤษฎีที่ตัวเองเชื่อถือ ผู้เขียนยังแบ่งส่วนที่เรียกว่า Debate in Theatre History แทรกไว้ในส่วนต่างๆ เพื่อนำเสนอทฤษฎีที่โต้แย้งกับทฤษฎีหลักด้วยโดยให้เหตุผลประกอบและไม่คาดคั้นที่จะให้ผู้อ่านต้องปักใจเชื่อทฤษฎีอย่างใดอย่างหนึ่งจนละทิ้งความเป็นไปได้อื่นๆเลย หนังสือเล่มนี้จึงฝึกให้ผู้อ่านมี Critical Thinking และหัดตั้งคำถามใหม่กับแง่มุมต่างๆทางประวัติศาสตร์เพราะประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งตายตัวเสียทีเดียว ด้วยเหตุนี้อาจารย์ผู้สอนวิชา Theatre Survey ที่มหาวิทยาลัยของผมจึงใช้เล่มนี้เป็นตำราในวิชาดังกล่าว
.
4.ครบถ้วน: ผู้แต่งไม่สักแต่จะเล่าประวัติศาสตร์ ยังแทรกประวัตินักเขียนบทคนสำคัญของแต่ละยุค คุณลักษณะสำคัญต่างๆ เช่น ฉาก เครื่องแต่งกาย โรงละคอน การจัดการโรงละคอนของยุคสมัยต่างๆ โดยร้อยเรื่องกับบทที่ผ่านมาและส่งต่อไปยังบทถัดไปจนทำให้เราเห็นโครงเรื่องทั้งหมดเป็นพัฒนาการจากจุดยุคสู่ยุค ไม่ใช่สักแต่เล่าเสมือนว่าสิ่งต่างๆเกิดขึ้นจากสุญญากาศ นอกจากนี้ยังมี Summary เป็นการ Wrap up ความเข้าใจหรือ Keywords ของแต่ละยุคสมัยด้วย
.
5.นำเสนอเรื่องของละคอนเอเชีย และละคอนชายขอบ: จริงอยู่ที่ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจละคอนเอเชียหรือละคอนนอกแสชัดเจนนัก แต่ผู้แต่งไม่ได้ละเลยที่จะไม่เขียนถึงเสียเลยโดยถือเอาว่าจะสนใจแต่ละคอนตะวันตกกระแสหลักเป็นที่ตั้ง ผู้แต่งแทรกเนื้อหาของละคอนเอเชีย ละคอนในประเทศอื่นๆรอบโลกนอกสหรัฐอเมริกา และละคอนนอกกระแสต่างๆเข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มที่จะทำให้เราเข้าใจการถ่ายเทของอิทธิพลข้ามวัฒนธรรมระหว่างตะวันตกและตะวันออก กระแสหลักและนอกกระแส
.
โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ครบถ้วนในอันที่จะใช้เริ่มต้นศึกษาประวัติศาสตร์การละคอนตะวันตก กระนั้น บางส่วนก็ต้องยอมรับว่าตำราไทยอธิบายละเอียดกว่า อย่างไรก็ตาม จากมุมมองของคนที่อ่านตำราไทยมาก่อนหนังสือเล่มนี้ช่วยให้จัดลำดับความคิดในเรื่องของลำดับเวลาและพัฒนาการต่างๆที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันได้ดีกว่า เป็นต้นว่ากระแสธารของสัจจนิยมกับต่อต้านสัจจนิยมนั้น เมื่อผมอ่านตำราไทยจะอนุมานไปเองว่าเกิดสัจจนิยมขึ้นก่อนแล้วกระแสต่อต้านสัจจนิยมเกิดตาม แต่การปัดฝุ่นครั้งนี้ทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ว่าทั้งสองกระแสธารนี้ไหลเชี่ยวสลับกัน เมื่อกระแสใหม่เกิดขึ้นกระแสเดิมก็ยังไม่ได้ไปไหน ยังคงมีที่อยู่ที่ยืนในรูปลักษณ์ใหม่อย่างไร อนึ่ง ตำราที่ไทยนั้นเขียนมานานนมแล้ว หนังสือประวัติศาสตร์การละคอนจึงมาจบลงที่ละคอนสมัยใหม่ซึ่งเป็นยุคหลังสงครามโลกเท่านั้น ถ้าต้องการอ่านให้ทันยุคขึ้นมาอีกสักหน่อยเช่นเรื่อง Viewpoint และ Postmodern ต้องหาอ่านจากตำราภาษาอังกฤษ ซึ่งอ่านสังเขปได้จากบทท้ายๆของหนังสือเล่มนี้ด้วยครับ
.
อ่านหลายๆเล่มเทียบกันก็ย่อมมีภาพกระจ่างชัดกว่าปักใจเชื่อเล่มใดเล่มหนึ่งเป็นแน่ หากมีเวลาลองหาอ่านดูครับ
Back to Top