
“ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล”: ความฝันถึงทางรอดของอนุรักษ์นิยมในโลกสมัยใหม่
*งานเขียนชิ้นนี้มีการเปิดเผยตอนจบของเรื่อง
.
ละคอนเพลง “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” จากบทประพันธ์ของ “โสภาค สุวรรณ” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2517 ได้รับการสร้างเป็นละคอนครั้งแรกเพื่อเบิกโรงละคอนเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ในปี พ.ศ.2550 หลังจากนั้นนิยายเรื่องนี้ถูกดัดแปลงเป็นละคอนโทรทัศน์ครั้งหนึ่ง และล่าสุด “ซีนารีโอ” นำความสำเร็จของตัวเองมาปัดฝุ่นให้ละครเรื่องนี้โลดแล่นบนเวทีเดิมอีกครั้งใน พ.ศ.2567 นี้ ผมในฐานะที่ได้อ่านนวนิยายต้นฉบับและได้ชมเวอร์ชันแรกจึงไม่ลังเลที่จะตีตั๋วเข้าไปชมการแสดงเรื่องเดิมในวันที่บริบทแวดล้อมและความหมายของเรื่องได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
.
“ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” เป็นเรื่องราวบนดินแดนสมมติแถบตะวันออกกลางนาม “ฮิลฟารา” ซึ่งมี “อาเหม็ด” ราชันผู้ไร้รัชทายาทเป็นผู้ปกครอง ภาวะการขาดแคลนผู้สืบราชสันตติวงศ์นี้เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การเมืองภายในขาดความสงบ ทุกคนจึงเฝ้ารอ “สตรีแดนไกล” ผู้ถูกมุ่งหมายว่าจะให้กำเนิดพระราชโอรสตามคำนายของโหรหลวง “มิเชล” หญิงสาวหัวสมัยใหม่ลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศส (ในต้นฉบับเป็นลูกครึ่งตะวันออกกลาง-ฝรั่งเศส) ถูกกลั่นแกล้งจาก “แคชฟียา” เพื่อนรักให้เข้ามาถวายตัวเป็นพระสนมแทนตนเอง ท่ามกลางความวุ่นวายนั้น “โอมาน” พระอนุชาทำการรัฐประหารสังหารพี่ชายและขึ้นเป็นกษัตริย์ ทำให้ “ชาริฟ” เจ้าชายราชองครักษ์ และมิเชลว่าที่พระสนมต้องออกเดินทางหลบหนีการตามล่ารอนแรมกลางทะเลทรายผ่านอุปสรรคต่างๆด้วยกันอย่างยากลำบากจนเกิดเป็นความรัก แต่แล้วเรื่องก็หักมุมให้ทั้งสองได้พบกับองค์อาเหม็ดซึ่งรอดชีวิตอย่างปาฏิหารย์อีกครั้ง พวกเขาจึงได้ร่วมกันวางแผนเพื่อ “กู้ชาติ” คืน เมื่อสำเร็จ อาเหม็ดยอมให้ชาริฟได้ครองคู่กับมิเชล ทรงริเริ่มปฏิรูปบ้านเมือง และเปลี่ยนแปลงกฎมณเฑียรบาลให้พระราชธิดาครองราชย์ได้เช่นเดียวกับบุรุษเพศ
.
การนำ ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล มาสร้างใหม่อีกครั้งในปีนี้ก็เป็นเรื่องปกติอยู่เองที่ผู้สร้างจะทำการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบหลายด้าน ส่วนที่น่าชื่นชมสำหรับเวอร์ชันนี้คือ การปรับเนื้อหาและเนื้อร้องเพลงหลายส่วนที่ช่วยให้การดำเนินเรื่องตรงประเด็น กระชับ และทันสมัยขึ้น การออกแบบลีลาด้วยท่าทางการเต้นร่วมสมัยได้ช่วยสร้างทั้งภาพและมิติในเชิงสัญลักษณ์ให้ละคอนเรื่องนี้ชวนติดตาม ทว่าการออกแบบฉากร่วมกับจอ LED ขนาดยักษ์ แม้จะงดงามทันสมัยแต่กราฟฟิกดีไซน์ที่เคลื่อนไหวราวกับผู้ชมเดินตามตัวละคอนเข้าไปในท้องพระโรงฉะนั้นได้ลดทอนเสน่ห์ของพื้นที่ทางจินตนาการในความคิดของผู้ชมไปอย่างน่าเสียดาย เช่นเดียวกับจังหวะในการแสดงที่ผมรู้สึกว่าเป็นปัญหาหลักของละคอนเรื่องนี้ กล่าวคือ จังหวะเร็วในส่วนที่ควรช้า แต่ช้าในส่วนที่ควรเร็ว ผมเห็นว่าเมื่อเรื่องราวการหลบหนีการไล่ล่านั้นปราศจากความซับซ้อนในตัวมันเอง ดังนั้น การผจญภยันตรายซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้นจึงควรเล่าให้กระชับฉับไวขึ้น แต่ควรมาหยุดใน moment สำคัญ ๆ ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงในการกระทำของตัวละคอน เพื่อทอดเวลาให้ผู้ชมได้ย่อยสารและรู้สึกร่วมไปกับเหตุการณ์นั้น ๆ ได้มากยิ่งขึ้น
.
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ 17 ปี ของการเดินทางของ ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล จากปี 2550 มาสู่ปี 2567 นี้ แฝงความหมายอะไรไว้บ้าง สำหรับผมแล้วการแสดงชุดนี้กำลังเผยให้เราเห็น... ความฝันถึงทางรอดของอนุรักษ์นิยมในโลกสมัยใหม่ ที่เต็มไปด้วยความสมานฉันท์ การประนีประนอม ตราบเท่าที่ผู้ปกครองยังเป็นผู้กุมอำนาจนำในหมากทั้งกระดานนี้
.
เราต้องไม่ลืมว่า “ฮิลฟารา” ทั้งในฉบับนวนิยายและละคอนเวที แม้จะเป็นเมืองสมมติที่ถูกแต่งแต้มด้วยสีสันต่างๆจนเราผู้อ่านผู้ชมจะเคลิ้มคิดไปว่าเป็นเรื่องราวจักร ๆ วงศ์ ๆ ประหนึ่งนิทานอาหรับราตรีที่เกิดขึ้นเมื่อกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว แต่องค์ประกอบหลายสิ่งในเรื่องบ่งชัดว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในยุคที่โลกทั้งใบกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างเต็มตัว เห็นง่าย ๆ ก็ที่ มิเชล นั่งเครื่องบินพาณิชย์ข้ามทวีปมาเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ มินับรวมความเป็นนักเรียนนอกที่เปิดรับความคิดแบบเสรีของแคชฟียา และอื่น ๆ ซึ่งเป็นเครื่องหมายของการไปสู่โลกาภิวัฒน์ทั้งสิ้น
.
ราชอาณาจักรฮิลฟาราซึ่งเคยตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวเช่นรัฐจารีตดั้งเดิมจึงกำลังเผชิญกับหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งสำคัญ คือ “ความจำเป็นในการปรับให้เป็นตะวันตก” หรือถ้าจะพูดให้ไม่แสลงหูนั้นก็ต้องพูดว่า “ความจำเป็นในการปรับไปสู่ความเป็นสมัยใหม่” เพื่ออยู่ท่ามกลางโลกที่รัฐชาติสมัยใหม่ (Modern State) ได้ก่อตัวขึ้นแล้วและกำลังกำหนดมาตรฐานอันท้าทายต่อความอยู่รอดของรัฐจารีตนั้น นั่นคือ อธิปไตย สิทธิมนุษยชน กฎหมาย และประชาธิปไตย
.
ในเรื่องเราจึงจะได้เห็นการต่อสู้ทางความคิดของชนชั้นนำ 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มอนุรักษ์นิยมจารีต (โอมาน) 2. กลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ (อาเหม็ดและชารีฟ) 3. กลุ่มเสรีนิยม (มิเชลและแคชฟียา) ที่ต่างห้ำหั่นกันด้วยกำลังความคิดและกำลังยุทธ โอมานต่อต้านการตั้งโรงเรียนสตรีและยังทระนงในความยิ่งใหญ่ของแคว้นตน ความกระหายอำนาจและมุทะลุอย่างบ้า ๆ นี้เองเป็นเชื้อไฟที่นำไปสู่การวางแผนรัฐประหารจนบ้านเมืองวายวอด ชาวบ้านจะเดือดร้อนอย่างไรก็ไม่รับเป็นธุระ ตราบเท่าที่ตนได้สำเร็จความใคร่ในการหยุดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นั้นไว้เพื่อประโยชน์ของตัวแล้วเป็นพอ สำหรับอาเหม็ดและชาริฟเองแม้จะเข้าใจถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนไปเป็นสมัยใหม่ แต่ก็เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงใด ๆ นั้น จะต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะในจิตใจลึก ๆ แล้ว ก็กลัวความเปลี่ยนแปลงอยู่ในที อยากจะมีความคิดแบบเป็นวิทยาศาสตร์แต่ก็ยังงมงายอยู่กับพิธีกรรมและคำทำนาย เป็นความกระอักกระอ่วนชนิดเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง อยากเป็นอย่างเขาแต่ก็เกลียดเขาเช่นกัน ดังฉากแรกที่ชาริฟได้บริภาษมิเชลว่าเป็น “หญิงต่างชาติไร้วัฒนธรรม” ไปจนถึงความตั้งใจของอาเหม็ดที่อยากจะส่งเสริมสิทธิสตรีแต่ก็พอใจต่อการมีฮาเร็มไว้ในบ้าน ภาวะความลักลั่นเช่นนี้จึงทำให้พวกขวากว่าอย่างโอมานเยาะเย้ยว่า “ชังชาติ” เพราะไม่ยอมรักชาติแบบจารีตอย่างที่เขารัก ส่วนแคชฟียาคุณหนูลูกคหบดีที่มีโอกาสได้ไปร่ำเรียนถึงฝรั่งเศสกลับมาพร้อมกับมิเชลจึงเป็นภาพแทนของ “คนนอก” (Outsider) ที่มาพร้อมกับความคิด วิทยาการ และความเชื่ออีกชุดหนึ่ง แม้เราจะไม่รู้ว่าแคชฟียาไปแตกเนื้อสาวเติบโตที่ฝรั่งเศสยาวนานเท่าใด แต่เราอาจจะอนุมานได้ว่า เธอก็เป็นเช่นวัยรุ่นหนุ่มสาวทั้งหลายที่เมื่อได้มีโอกาสลิ้มรสการใช้ชีวิตในโลกเสรีแล้วก็จะไม่สามารถมองสิ่งรอบตัวพวกเขาเองด้วยโลกทัศน์แบบเดิมอีกต่อไป
.
ผมเข้าใจว่าจะด้วยความจงใจหรือไม่ก็ตามผู้สร้างจำเป็นต้องปรับทั้งบทและเนื้อเพลงในครั้งนี้ให้ขับเน้นแกนเรื่องทางการเมืองและทำให้มันมีเหตุมีเหตุผลแบบตรรกะที่ผู้ชมในปี 2567 จะพอยอมรับได้ ฉากส่งตัวพระสนมโดยการเอาทหารทั้งกองร้อยไปฉุดเธอกลางตลาดถูกตัดออกไป แล้วแทนที่ด้วยการจับกบฏแทน บทร้องซึ่งอาเหม็ดปะทะคารมกับโอมานโดยอ้างสิทธิขาดอันชอบธรรมในฐานะเจ้าชีวิตก็ถูกแทนที่ด้วยหลักเหตุผลว่าจะไม่ตัดสินคดีโดยอำเภอใจเพราะบ้านเมืองมีกฎหมาย บทเจรจาหว่านล้อมให้มิเชลมาเป็นพระสนมตามคำทำนายก็ถูกเปลี่ยนให้เห็นว่าอาเหม็ดต้องการความรู้ของมิเชลไว้ร่วมปฏิรูปบ้านเมืองมากกว่าจะเห็นเธอเป็นแค่เครื่องปั๊มลูก ฉากจบของเรื่องมิเชลจึงเลือกอยู่ที่ฮิลฟาราต่อเพราะคิดว่าตัวเองจะสามารถเปลี่ยนแปลงเมืองนี้ให้ดีขึ้นได้แทนการมีค่าแค่คลอดลูกชายถวายอาเหม็ดเช่นเวอร์ชันก่อน เมื่อนั่งดูละคอนในศักราชนี้เราจึงอาจจะนึกไม่ออกเลยว่า ในค่ำคืนครั้งหนึ่งคล้อยหลังเกือบ 1 ปีจากการรัฐประหาร 2549 เราเคยซาบซึ้งกับ เพลง “ปณิธาน” ที่มีเนื้อหามาจากวาทกรรมทางการเมืองอันลือลั่นซึ่งเราถูกกรอกหูอยู่ทุกค่ำเช้าว่า “ขอให้ฟ้าเป็นพยาน จะตั้งปณิธาน ตอบแทนบ้านเกิดของเรา….” ในโรงละคอนแห่งเดียวกันนี้ที่เดิมได้อย่างไร เพราะความหมายของ "แผ่นดิน" และ "ชาติ" ในวันนี้ได้ผันเปลี่ยนไปแล้ว
.
ความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสมัยใหม่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไปสำหรับเมืองฮิลฟารา กาลเวลาได้พัดพาให้ทั้งแผ่นฟ้าและผืนทรายเปลี่ยนรูปแปลงร่างไปสิ้นแล้ว หากจะรั้นหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงนั้นไว้ด้วยความกลัวก็มิแคล้วต้องย่อยยับดับสูญไป ความหวังความฝันที่ผู้สร้างคงต้องการจะเห็นและบอกเป็นนัยแก่เราทั้งหลายก็คือ ทางรอดเดียวของเหล่าอนุรักษ์นิยมคือการปรับตัวให้สอดคล้องกับความเป็นสมัยใหม่เสีย ดังบทสรุปของเรื่องคือการสมรสระหว่างชาริฟและมิเชลซึ่งเป็นภาพแทนความประนีประนอมของเครือข่ายอนุรักษ์นิยมในโลกเสรี ตลอดจนการผ่อนปรนความสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ของอาเหม็ดเพื่อยังคงไว้ซึ่งการเป็นผู้กุมอำนาจนำที่แท้จริงในรัฐ ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล จบเรื่องไว้แค่นี้ และผมก็ได้แต่หวังว่ามันจะไม่เป็นฝันค้างกลางฤดูฝน ส่วนสิ่งที่ผมคิดว่าจะเกิดขึ้นตามมาแน่ก็คือฎีกาของชาวฮิลฟาราที่ว่า “พระราชทานรัฐธรรมนูญเถิดพระเจ้าข้า กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้เสียแล้ว”
#ฟ้าจรดทรายเดอะมิวสิคัล2024